Rainbow Washing (การฟอกรุ้ง) คืออะไร? และทำไมถึงเป็นปัญหา?

Rainbow Washing หรือการฟอกรุ้งเป็นคำที่ใช้อธิบายแนทางการปฏิบัติของบริษัท องค์กร หรือพรรคการเมืองที่ใช้ธงสีรุ้งหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ของ LGBTQ+ เพื่อให้ดูเหมือนสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ โดยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่มีความหมายเพื่อสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+

การ Rainbow washing มักถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสวงประโยชน์ เนื่องจากบริษัทหรือพรรคการเมืองต่าง ๆพยายามใช้ประโยชน์จากความนิยมของธงสีรุ้งโดยไม่ให้คำมั่นสัญญาที่แท้จริงต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน LGBTQ+

การฟอกรุ้งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัท องค์กร และพรรคการเมืองจำนวนมากในปัจจุบันพยายามทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ว่าตนเองเป็นมิตรและส่งเสริมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บริษัท องค์กร พรรคการเมืองเหล่านี้จะเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้งหรือออกผลิตภัณฑ์พิเศษในธีม Pride ในช่วงเดือน Pride หรืออาจสนับสนุนนักการเมืองหรือองค์กรที่ต่อต้าน LGBTQ+ อย่างแข็งขัน แต่ไม่ได้มีนโยบายสนับสนุนพนักงาน LGBTQ+ หรือชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจนในตัวองค์กร

แนวทางการปฏิบัติเหล่านี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการฟอกชมพู (Pinkwashing) ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทใช้แคมเปญการสร้างการรับรู้เรื่องมะเร็งเต้านมเป็นเครื่องมือทางการตลาดโดยไม่ได้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการวิจัยเรื่องมะเร็งเต้านมอย่างแท้จริง การปฏิบัติอย่างนี้ถือเป็นการฉวยโอกาสและไม่ได้สร้างความจริงใจ และอาจเป็นอันตรายต่อชุมชนที่พวกเขาต้องการจะสนับสนุน

หนึ่งในคำวิพากษ์วิจารณ์หลักของการฟอกรุ้งคือมันอาจนำไปสู่ “ทุนนิยมสีรุ้ง” (Rainbow Capitalist) ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ได้กำไรจากชุมชน LGBTQ+ โดยไม่ได้มีส่วนสนับสนุนสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้ทำให้บริษัท องค์กร หรือพรรคการเมือง ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นพันธมิตรของชุมชน LGBTQ+ ในขณะที่พวกเขายังคงมีส่วนร่วมในการเลือกปฏิบัติและการสร้างความไม่เท่าเทียม

คำวิจารณ์อีกประการหนึ่งของการฟอกรุ้งคือมันอาจสร้างอันตรายต่อชุมชน LGBTQ+ ด้วย เพราะมันเป็นการส่งเสริมความรู้สึกผิดๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้า บริษัท องค์กร พรรคการเมือง ที่มีส่วนร่วมในการฟอกรุ้งอาจสร้างความรู้สึกให้สังคมเห็นว่าสิทธิของ LGBTQ+ ในสังคมกำลังเกิดก้าวหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมและความยุติธรรม

เพื่อต่อสู้กับการฟอกรุ้ง องค์กร LGBTQ+ บางแห่งได้สร้างกระบวนการรับรองขึ้นมา (certification) เพื่อยกย่องบริษัทที่มุ่งมั่นในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น แคมเปญการวัดดัชนีความเท่าเทียมขององค์กรสิทธิมนุษยชนให้คะแนนบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน LGBTQ+ ในขณะที่แคมเปญ Open to All มีการให้การรับรองธุรกิจที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

การฟอกรุ้งเป็นการปฏิบัติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักเคลื่อนไหวและองค์กรต่างๆ ของ LGBTQ+ เนื่องจากสามารถมองได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสวงประโยชน์ที่ไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในสิทธิของ LGBTQ+ แม้ว่าธงสีรุ้งยังคงเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของความภาคภูมิใจและการอยู่ร่วมกันของ LGBTQ+ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่ามันไม่ได้นำไปใช้เพื่อผลกำไร สร้างคะแนนเสียงแบบไม่จริงใจหรือเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าแบบผิดๆ

บริษัท องค์กร และพรรคการเมืองที่สนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ อย่างแท้จริงจะต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้จริง แทนที่จะใช้ธงสีรุ้งเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง