“เกียวโตซ่อนกลิ่น” ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มไทย-หนุ่มญี่ปุ่น กับความระทมไร้รูปร่างของความเป็นพ่อ และ Toxic Masculinity

“เมื่อสัมผัสสิ่งใดก็กลายเป็นสิ่งต้องสาป หากไม่อยากสูญเสียก็จงอย่ารัก”

ความรักระหว่างชายหนุ่มกับชายหนุ่ม

ภาวะร่วงหล่นชั่วนิรนดร์

วังน้ำวนของความสัมพันธ์

ความเป็นพ่อที่มาพร้อมกับรอยแผลเป็นจากความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)

ภัยพิบัติของญี่ปุ่น กับหายนะทางการเมืองไทย

การบรรจงเก็บซ่อนกลิ่นเล่าผ่านในระหว่างบรรทัดเพื่อรอฟุ้งกระจายในตอนจบ

ของเรื่องสั้นขนาดยาว สามภาษา ไทย-ญี่ปุ่น-อังกฤษ

– เกียวโตซ่อนกลิ่น Kyoto: Hidden Sense

ว่าด้วยการเริ่มต้นเรื่องราวการเติบโต (Coming of Age) ผ่านคำตำหนิจากสายตาของผู้เป็นพ่อที่แปรสภาพเป็นกระแสความคิด ความเชื่อ แม้ไม่มีชีวิตอยู่แล้วคอยกดทับ โบยตีตัวละครที่ชื่อว่า “วารี” หนุ่มนักศึกษาไทย สู่ที่มาของผลงานวิทยานิพนธ์ของเขาที่เข้าตาอาจารย์ที่ปรึกษาหัวข้อ “รูปแบบหลายนัยของความเป็นพ่อ” ทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ “สังคมปิตาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย” ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการได้ทำความรู้จักกับ “โทโมะ” หนุ่มญี่ปุ่นคนแปลกหน้าที่มีพลังงานของความสงบอันน่าประหลาดเชื้อเชิญดึงดูดให้เขาเข้าไปทำความรู้จักด้วย – ผู้ที่มีความสนใจศาสตร์พลังงานลี้ลับ ยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาวที่ผลักไสไปเป็นอื่นเช่นเดียวกับเขา

แต่การเดินทางมาเกียวโตแล้วได้พบเจอโทโทะแม้เป็นการรู้จักกันเพียงระยะสั้น ก็ได้ปลุกร่างความปรารถนาดั้งเดิมของวารีให้ตื่นขึ้น ทว่าความปรารถนาไม่ได้มาแต่ความหอมหวานแต่กลับนำพาความขื่นขมจากความรู้สึกถึงสายตาคอยจับผิด จากพ่อผู้ล่วงลับที่จ้องมองและกดทับแรงปรารถนาที่เกิดขึ้นมา ให้เป็นเหมือนกับความปรารถนาที่กำลังออกนอกลู่นอกทาง ราวกับความผิดบาปที่ตรึงติดตัวของวารี

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 หนุ่ม “วารี” และ “โทโมะ” ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ถูกกลิ่นที่ซ่อนเร้นของเกียวโตกดทับ แต่ความผิดหวังและอดกลั้นจากสภาวการณ์ทางการเมืองของวารีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกกดเก็บไว้อย่างชัดเจน ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนตั้งแต่ 14 ตุลา การชุมนุมต่างๆ ที่ไม่อาจบอกเล่าเรื่องราวความจริงได้เพราะถูกปกปิดเอาไว้ และอีกหนึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โทโฮะกุบ้านเกิดของโทโมะ ซึ่งก่อให้เกิดความแหว่งเว้าทางความรู้สึกของพวกเขา ที่ในท้ายที่สุดก็ต้องเดินกลับมาสู่โลกของตนเอง ดั่งกลิ่นที่ซ่อนเร้นจากสัมผัส หาใช่ว่าจะจางหายไป แท้จริงกลิ่นจะลอยเกาะและซ่อนอยู่ในทุกรูปของการกระทำของเรา การถูกกลืนกินจากความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ที่แปรรูปฝังร่างอยู่ในครอบครัว ความไม่เป็นธรรมในวิถีการเมืองไทยราวกับน้ำวน ราวกลิ่นดอกไม้หลากสีลึกลับที่หลบเร้น และจะส่งกลิ่นออกมาเพื่อย้ำเตือนถึงภาวะความเจ็บปวด การสูญเสียที่เราไม่อาจหนีพ้น

Genderation ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ และไม่ว่าคุณจะอ่านเอาจิ้น หรืออ่านเพื่อซาบซึ้งตามอารมณ์ของตัวละครไปพร้อมกับจุดแลนมาร์คสำคัญของ “เมืองเกียวโต” ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

“ชอบไหมครับ” โทะโมะถามหลังเดินออกมาจากอาราม

“ผมประทับใจมากครับโทโทะ”

“ผมก็รู้สึกเหมือนกันครับวารี”

เกียวโตซ่อนกลิ่น Kyoto: Hidden Sense

เขียนโดย อุทิศ เหมะมูล, สำนักพิมพ์จุติ

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง