Inspired People: Julia Child ครัวที่ขาดแม่ไม่ได้

คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าตำราและรายการอาหารของ Julia Child มีคุณูปการยิ่งนักต่อแม่บ้านและอาหารการกินครองครัวเรือนอเมริกันในทศวรรษ 1970-2000 แต่ที่คนไม่ค่อยรู้กันก็คือ 3 สิ่งที่ให้กำเนิดตำหรับอาหารคู่ครัวของไชลด์นั้น คือกองทัพบก สำนักข่าวกรองกลาง และเมืองจีน

การปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงตัวสูงกว่า 180 เซนติเมตรเข้าประจำการเป็นทหารอาจเป็นความสูญเสียเล็ก ๆ ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่พวกเขาจะต้องขาดยอดหญิงนักสู้อย่างจูเลีย แคโรลีน แมกวิลเลียมส์ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป อาจจะเป็นการดีกว่าที่ผู้หญิงคนนี้อยู่รอดปลอดภัยมาได้อีกหลายสิบปี 

แต่นั่นไม่ได้หยุดเธอจากความพยายามจะทำหน้าที่ต่อชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 จูเลียบ่ายหน้าจากกองทัพเข้าสมัครเป็นเจ้าหน้าที่สำนักบริการยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Service หรือ OSS ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นสำนักข่าวกรองกลาง Central Intelligence Agency หรือ CIA) เธอร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รุ่นใหญ่มากมายก่อนจะย้ายเข้าหน่วยวิจัยอุปกรณ์กู้ชีพทางทะเล ผลงานเด่นของเธอคือการคิดค้นสารที่ใช้ในการขับไล่ฉลาม งานในหน่วยสืบราชการลับของจูเลียไปได้สวยจนเธอได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าสำนักระเบียน หรือพูดอีกอย่างก็คือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงความลับระดับสูงสุดของชาติ

และที่ไปได้สวยกว่านั้น เธอพบกับ Paul Child สายลับระดับสูงผู้หลงใหลในอาหารฝรั่งเศส

ย้อนกลับบไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ระหว่างที่จูเลียประจำการอยู่ที่คุนหมิง ประเทศจีน หลังจากที่ได้สัมผัสวัตถุดิบดี ๆ ในอาหารท้องถิ่น เธอก็ค้นพบว่า อาหารอเมริกันที่กินมาทั้งชีวิตนั้นย่ำแย่จนเข้าขั้นห่วย จากนั้นเธอจึงเกิดสนอกสนใจในการทำอาหารกินเอง โดยมีคนท้องถิ่นคอยให้ความช่วยเหลือทั้งวัตถุดิบและวิธีการปรุง

เธอรักการทำอาหารเท่า ๆ กับที่รักพอลและอาหารฝรั่งเศส 2 ปีหลังจากที่ทั้งคู่แต่งงานกัน จูเลียก็เอาสูตรที่ปรับปรุงแล้วกับประสบการณ์จากโรงเรียนอาหารมาเขียนตำรา “Mastering the Art of French Cooking” หลักจากใช้เวลาเขียนถึง 9 ปี และดิ้นรนเสนอต่อสำนักพิมพ์อยู่พักใหญ่ ความพยายามของเธอก็ออกผล หนังสือเล่มแรกของจูเลียดังพลุแตกจนถูกยกย่องว่าเป็นตำราคู่ครัวอเมริกัน 

ไม่นานนัก จูเลีย ไชลด์ก็ปรากฏตัวบนรายการโทรทัศน์ในฐานะอาจารย์แม่ (หรือจะให้ถูกต้องกว่านั้นก็ต้องเป็น “อาจารย์ของแม่”) นับตั้งแต่ตอกไข่ทำออมเล็ตครั้งแรกบนจอแก้วไปจนถึงซุปหัวหอมมื้อสุดท้ายของชีวิต เธอเป็นทั้งตำนาน และผู้ให้แรงบันดาลใจแก่บรรดาผู้หญิงที่ต้องทำอาหารเลี้ยงคนทั้งครอบครัวนับล้านทั่วอเมริกาด้วยอารมณ์ขันและบุคลิกยอดนักสู้ที่ไม่เหมือนใคร

“สิ่งที่ขวางคุณเอาไว้คือความกลัวที่จะล้มเหลว จะทำอาหารก็ไม่ต้องไปกลัว มันต้องมีทัศนคติแบบ ‘อะไรกันวะเนี่ย’ อยู่เสมอ”

นอกจากหนังเรื่อง Julie & Julia แล้ว ตำนานนักสู้ของจูเลีย ไชลด์ ถูกจารึกไว้ในฐานะผู้หญิงคนแรกที่มีชื่อหอเกียรติยศของสถาบันการอาหารแห่งอเมริกา (Culinary Institute of America – CIA เหมือนกัน แต่ไม่ใช่สายลับแล้ว) ห้องครัวของเธอยังถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกา สมิธโซเนียน มาจนถึงทุกวันนี้

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง