Swarm ลัทธิบูชาการแบกคน

“นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง ความคล้ายคลึงใด ๆ กับบุคคลจริง ทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ล้วนเป็นความจงใจ”

ข้างต้นนี้เป็นข้อความปฏิเสธความรับผิดชอบ (disclaimer) ที่ดูจะแปลกประหลาดไปสักหน่อย
สำหรับซีรีส์ที่หยิบยืมแรงบันดาลใจจากเหตุรุนแรงรวมไปถึงคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจริงมาร้อยเรียงกัน
นี่จึงอาจเป็นการเตือนแบบกลาย ๆ จากผู้สร้าง Swarm ว่านี่ไม่ใช่สื่อบันเทิงธรรมดาทั่วไป

แน่นอน มันไม่ธรรมดาจนน่าขนลุก

Swarm เล่าเรื่องของ “เดร” (Dominique Fishback) แฟนเพลงผู้คลั่งไคล้ระดับถวายชีวิตของไนจาห์ เจ้าแม่เพลงป็อประดับท็อปชาร์ต เดรอาศัยอยู่กับมาริสซ่า (Chloe Bailey) พี่สาวผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้ไนจาห์ไม่แพ้กัน ความฝันสูงสุดของเธอคือการใช้เงินก้อนที่หามาอย่างยากลำบากมาซื้อตั๋วคอนเสิร์ตแถวหน้ามาเซอร์ไพรส์พี่สาวผู้เป็นที่รัก แต่แผนนั้นก็ล้มไม่เป็นท่าเมื่อมาริสซ่าชิงปลิดชีวิตตัวเองไปเสียก่อนเพราะเลิกกับแฟน ในจังหวะเดียวกันกับที่มีข่าวฉาวของไนจาห์ หนำซ้ำโศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังถูกเอาไปเล่าลือกันให้ทั่วโซเชียลเนตเวิร์กว่าแฟนไร้สมองคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะไนจาห์โดนนอกใจ ความสูญเสียครั้งนี้ตอกลิ่มลงไปบนใจที่แทบแตกสลายอยู่แล้วของเดรให้ป่นปี้ไม่มีชิ้นดี มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่เต็มไปด้วยหายนะ เพื่อล้างแค้นให้กับมาริสซ่า และปกป้องชื่อเสียงของศิลปินที่เธอเทิดทูนหมดหัวใจ…

ด้วยการไล่ฆ่าชาวเน็ตปากแจ๋วพวกนั้นทีละคน

นอกจากต้นแบบของตัวละครไนจาห์ซึ่งผู้สร้างแทบจะไม่ปิดบังเลยว่าเอามาจากบียอนเซ่ เหตุการณ์นองเลือดที่ทั้งประหลาดและกระอักกระอ่วนในแต่ละตอนก็ล้วนได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วอเมริกา เช่น คดีนักเต้นระบำเปลื้องผ้ายิงผู้ชายที่มาช่วยซ่อมรถตาย คดีฆาตกรรมหัวหน้ากลุ่มฮิปปี้คนขาวที่ยังปิดไม่ได้ ไปจนถึงเหตุชุลมุนที่แฟนคลับบุกเข้าไปกัดนักร้องสาวคนดัง ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำหน้าที่ยกระดับความบ้าบอคอแตกให้กับเรื่อง องค์ประกอบแบบ “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง” ยังสร้างความรู้สึกน่าหวาดหวั่นอย่างประหลาด เมื่อคิดได้ว่าในชีวิตจริงเราอาจจะเคยเฉียดใกล้กับคนอย่างเดรมาแล้ว ไม่ว่าจะในโลกจริง หรือในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

เห็นได้ชัดว่าสองสิ่งที่โชว์รันเนอร์ Donald Glover กับ Janine Nabers ตั้งใจพาเราไปสำรวจในซีรีส์เรื่องนี้คือ ความบิดเบี้ยวของวัฒนธรรมแฟนด้อมกับปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหนึ่งคนดิ่งจมไปกับมันแบบถอนตัวไม่ขึ้น เราอาจมองได้ว่าลักษณะของแฟนด้อมนั้นใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า ลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) เมื่อผู้คนหันไปสรรเสริญปัจเจกที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจบางอย่างจนออกตัวเป็นสาวกเดนตาย ปกป้องปัจเจกนั้นทุกวิถีทางเพื่อยืนยันว่าตัวเองอยู่ข้างที่ถูกต้อง ซึ่งความถูกต้องเหนือสิ่งอื่นใดนี้เองที่ทำให้พวกเขาเลือกใช้สารพัดวิธี “แบก” ปัจเจกนั้นไม่ว่ามันจะทำให้เกิดคำถามตามมามากมายเพียงใดก็ตาม

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ “แฟนด้อม” ดำรงอยู่ได้ด้วยการแบกไม่สนใจหลักการใด ๆ คือสำนักในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หรือก็คือการเป็นที่ยอมรับซึ่งสนองความต้องการลำดับสูงของมนุษย์ (จามทฤษฎีของมาสโลว์) ในกรณีของคนที่เว้าแหว่งไปจนถึงฐานรากอย่างเดร ความต้องการเช่นนี้รุนแรงมากพอที่จะชักนำเธอสู่วังวนอันน่าสยดสยองของการทำลายไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นศัตรู คนที่เธอรัก
หรือแม้กระทั่งตัวเอง

แม้ว่าวิธีการนำเสนอสไตล์เรื่องสั้นจบในตอนของ Swarm จะมีจุดน่าเสียดาย ในแง่ที่ว่ามันให้เวลาในการสำรวจประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ ในเหตุหายนะตลกร้ายแต่ละตอนน้อยไปสักหน่อย แต่อารมณ์ขันอันร้ายกาจกับความน่าพรั่นพรึงของสถานการณ์ที่เป็นเหมือนลายเซ็นของโกลเวอร์ก็ยังทำงานได้อย่างเต็มที่ จนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นส่วนต่อขยายที่น่าสนใจของ Atlanta ชวนให้จับตามองว่าครั้งหน้าเขาจะหยิบยกมิติไหนของการเมืองและวัฒนธรรมคนดำในอเมริกามาถ่ายทอดให้เราได้ดูกันอีก

Swarm มีให้สตรีมดูกันได้แล้วทาง Prime Video

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง