ประวัติศาสตร์ยำ สู่วัฒนธรรมกินยำของเหล่าเทย

จากเพลง “กินยำ” (Lum Yum) ของเฉลิมศรี [Parody Yummy] บล็อกเกอร์ชื่อดังท่านหนึ่งไม่ได้เป็นเพียงเครื่องยืนยันว่าทำไมยำต้องคู่กับเหล่าเทยเท่านั้น แต่มันมีเหตุผล มีที่มาที่ไป แน่นอนว่าทาง Genderation เราไม่พลาดที่จะไปสืบค้นมาแบ่งปันกันค่ะ

“ยำ” หนึ่งในเมนูอาหารขึ้นชื่อถูกยกระดับเป็นอาหารประจำชาติสุดฮิตของหญิงไทยและเหล่าเทยทั้งหลาย รวมถึงผู้คนที่มีความชื่นชอบอาหารรสจัดจ้านสะท้านทรวง เน้นรสชาติความเปรี้ยวจากมะนาว เค็มของน้ำปลา เผ็ดจากพริกขี้หนู พริกแห้ง หรือพริกป่น หวานจากน้ำตาลปี๊บที่ให้ความหอมนวลมากกว่าน้ำตาลทราย สู่การคลุกเคล้าวัตถุดิบหลักที่อาจจะเป็นได้ทั้งเนื้อสัตว์หรือผัก แบบกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือแบบดิบ ผสมเข้ากับเครื่องเทศสมุนไพรสดเพื่อดับกลิ่นคาว คนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อว่าความเปรี้ยวของมะนาว หรือความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศสมุนไพรช่วยทำให้อาหารดิบกลายเป็นอาหารสุก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคในเนื้อสัตว์ได้ เพราะโปรตีนบางชนิดมีสีที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับกรดของมะนาว ทำให้เข้าใจไปว่าอาหารนั้นถูกทำให้สุกแล้ว และสะอาดปลอดภัยพอที่จะกินได้ค่ะ

แน่นอนว่าเมนูนี้อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างช้านาน เชื่อว่ามีที่มาจากความรู้สึกเสียดายของไม่ยอมทิ้งวัตถุดิบที่มีเหลืออยู่ในครัวอย่างละนิดอย่างละหน่อยหลายสิ่งสู่การทำเป็นยำใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าเพื่อชื่นชมการปรุงเครื่องเสวยของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 ว่าไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

“ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา

รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ”

– อ้างอิงข้อมูลจากบทความ “สารพัดยำในอาหารไทย” และ “แม่ครัวหัวป่าก์” – วัชรญาณ.

ซึ่งในกาพย์นั้นระบุถึงน้ำปลาญี่ปุ่น ซึ่งเดาได้ว่าเป็นโชยุ – เครื่องปรุงรสที่มีรสชาติเค็มนัวร์จากการหมักบ่มรวมกันของถั่วเหลืองหนึ่งในเครื่องปรุงรสที่สันนิษฐานว่าเข้ามาในราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ด้วยความมีจำกัดถูกปรับมาใช้เป็นน้ำปลาไทยแทน หลังจากนั้นก็เกิดการคิดพลิกแพลงทำเป็นยำหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตัววัตถุดิบ เป็นการแอบจำแล้วนำมาใช้ เพิ่มผักสมุนไพร ไข่ดอง น้ำปลาร้า สูตรน้ำปรุงรสอันจัดจ้านเฉพาะตัวในแต่ละครัวเรือนแต่ละพื้นที่ สู่เมนูยำที่เป็นที่นิยมทุกวันนี้ เพราะทำง่าย ถูกปากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิงและชาวเทยทั้งหลายทั้งปวง

แล้วทำไม “ยำ” ถึงกลายมาเป็นอาหารประจำชาติของผู้หญิงและเหล่าเทยได้ เรามาวิเคราะห์ได้ดั้งนี้

1. คนขายยำเจ้าแรก ๆ ที่ใส่น้ำปลาร้าคือกลุ่มเพื่อนเทยนามว่าเจ้เบียร์ เจ้กบ ตามมาด้วยร้านอาฟเตอร์ยำพัทยา ร้านโคตรยำ ร้านยำลิ้นเบิร์น และร้านอื่นๆ ที่เปิดตามกันมา คอมมูนิตี้แรกในการนิยมกินยำเลยมีแต่เหล่าชาวเทยจนกลายเป็นภาพจำว่า “กะเทยต้องกินยำ” ที่มาพร้อมประโยคฮิตที่บอกไว้ว่า “กะเทยทำ กะเทยกิน กะเทยตาย กะเทยเผา” หมายถึงอุดหนุนของกันเอง คล้ายกับวลี “กินของไทย ใช้ของไทย” นั่นเอง (ตรงนี้ขอให้เข้าใจตรงกันนะคะว่าคำเรียกกะเทย ไม่ได้ใช้เพื่อการเหยียดแต่อย่างใด)

2. อาหารประเภทยำและส้มตำมีพลังงานต่ำ แคลอรี่น้อย กว่าอาหารไทยประเภทอื่นใช่มั้ยคะ ผู้หญิงและเหล่าเทยหลายคนจึงเลือกรับประทาน สิ่งนี้เพื่อการดูแลรูปร่าง เมื่อทานเป็นประจำจึงเกิดความเคยชินกับรสชาติจัดจ้านและกลายเป็นว่าทานอะไรก็ไม่อร่อยเท่ากับยำและส้มตำอีกต่อไป เหมือนเวลาที่คนไทยไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศแล้วคิดถึงรสชาติเปรี้ยว เผ็ด เค็ม เหล่านี้

3. เชื่อว่าผู้ชายต้องการพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อวันมากกว่าผู้หญิง พวกเขาจึงมักเลือกทานอาหารอย่างอื่นที่ให้พลังงานมากกว่า และอิ่มท้องได้นานกว่า ประกอบกับงานวิจัยพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่เลือกทานเนื้อสัตว์มากกว่าผัก โดยในเชิงจิตวิทยาแสดงถึงการเป็นผู้ล่า

4. มีงานวิจัยเกี่ยวกับการทานอาหารรสเผ็ด พบว่าผู้หญิง (รวมถึงเหล่าเทย และเกย์ในเชิงจิตวิทยา) ส่วนใหญ่ชอบทานเผ็ดเพราะรู้สึกสนุกและตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า ซู่ซ่า ดี๊ด๊าค่ะ

5. ย้อนกลับไปที่ความสนุกและความตื่นเต้นในการทานยำและส้มตำ พบว่าความรู้สึกเหล่านี้มักมาพร้อมกับกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อนตั้งวงสนทนา เม้าท์มอย ไปพร้อมกับการกินยำและส้มตำที่เชื่อว่ากินคนเดียวไม่อร่อย ต้องไปกินร่วมกันหลาย ๆ คน ถึงจะรู้สึกว่ายำมื้อนั้น แซ่บ อร่อยกว่าปกติ เมื่อผู้หญิงและเหล่าเทยมีแนวโน้มที่จะทานยำและส้มตำด้วยกันเป็นกลุ่ม จึงทำให้ร้านยำและส้มตำเป็นคอมมูนิตี้ใหม่เต็มไปด้วยลูกค้าผู้หญิง และเหล่าเทยมากกว่าผู้ชาย

6. นอกจากนี้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับยำและส้มตำเช่น “เผ็ด” “ เปรี้ยว” “ แซ่บ” “ นัว” “นัดยำ” “ ตำแตง” “ ยำแตกๆ” ยังมีการใช้ที่เกี่ยวโยงกับเพศหญิงและบ่งบอกถึงจริตชาวเทยจึงเป็นมายาคติที่ตอกย้ำว่าอาหารประเภทยำและส้มตำนั้น เป็นอาหารสำหรับผู้หญิงชาวเทยคนที่มีบุคลิกจัดจ้าน

สุดท้าย Genderation เราเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือเหล่าเทย หรือนิยามตนเป็นเพศใด มีบุคลิกลักษณะนิสัยที่เรียบร้อย หรือจัดจ้านฉูดฉาดก็ตามก็สามารถ “กินยำ” ได้อย่างอิสระเสรีโดยไม่ต้องรู้สึกขวยเขิน “กินยำ” ได้บ่อยครั้ง และในทุกครั้งที่อยากแซ่บ

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง