“ถ้าไม่รักจะปล้ำ” เพลงที่ส่งเสริมค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศ

“ถ้าไม่รักจะปล้ำ” !!?? เพลงที่ส่งเสริมให้เกิดค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงและเด็ก

ไม่น่าเชื่อว่าปี 2023 ในยุคที่การตระหนักรู้เรื่องสิทธิทางเพศเกิดขึ้นกว้างขวางขนาดนี้ ยังมีคนกล้าทำเพลงที่มีลักษณะการส่งเสริมให้เกิดค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงอยู่อีก

เพลงถ้าไม่รักจะปล้ำ ถูกเผยแพร่ในช่อง Nine Channel Family เป็นผลงานเพลงของ นาย เดอะคอมเมเดี้ยนร่วมกับวง One Dream โดยมีเนื้อหาพูดถึงการแอบชอบผู้หญิงและบอกว่าถ้าผู้หญิงไม่รักตอบก็จะปล้ำ โดยท่อนฮุคร้องว่า

“เดี๋ยวพี่จะ ปล้ำ ปล้ำ ปล้ำ ถ้าน้องไม่รักเดี๋ยวพี่จะปล้ำ พี่พูดจริงนะน้อง ไม่ได้อำ อยากจะชวนน้องไปปะด้ำปั๊มปำ ถ้าเธอไม่รักฉันก็ไม่เป็นไร ระวังตัวไว้เดี๋ยวน้องจะโดนปล้ำ”

ซึ่งนาย เดอะคอมเมเดี้ยน ได้ออกมาชี้แจงใต้คลิปบอกว่า ตนเองไม่ได้มีเจตนาล้อเลียน คุกคาม ยุยง ส่งเสริม หรือแม้แต่โน้มน้าวปลุกปั่นให้ก่ออาชญากรรมใดๆ เพียงแต่เป็นบทกลอนในฉากลิเก ที่ตัวโกงร้องกับนางเอก และกล่าวขอโทษกับคนที่รู้สึกแบบนี้

ทว่าคลิปดังกล่าวก็ยังไม่ถูกลบและมียอดคนดู ณ ปัจจุบัน (6กันยายน) 8 หมื่นคน เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยกับสื่อในช่องทางยูทูปที่คนทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงได้

ปัญหาของเพลงนี้คือเนื้อหาในเพลงทั้งหมด เป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture)

วัฒนธรรมการข่มขืน คือการนำการข่มขืน มาใช้ล้อเลียน สร้างมุกตลก และโยนความรับผิดชอบไปให้เหยื่อโดยที่มักจะเป็นเพศหญิง ว่าไม่ระวังตัวเอง แต่งตัวไม่มิดชิด ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy system) มานานโดยมีสื่อ เป็นตัวกระตุ้นสร้างภาพจำเหล่านี้

เนื้อหาของเพลง ถ้าไม่รักจะปล้ำ ตอนหนึ่งร้องว่า “เด็กสมัยนี้ทำไมโตไว” และ “มีผัวหรือยังจ๊ะคนดี ทรวดทรงองเอวอย่างนี้ โอ้อันเบ้อเริ่ม อันเบ้อเทิ่ม เกินปุยมุ้ย มันจะเกินไปไหม” “อยากจะขอเบอร์ ขอเฟสได้ไหม ถ้าไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่จะปล้ำ”

ประโยคเหล่านี้ ถึงแม้จะมีจุดประสงค์ในการสร้างความสนุกสนานด้วยทำนองเพลงและมิวสิควิดิโอ แต่ก็ได้สร้างวัฒนธรรมการข่มขืนให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และจะทำให้การข่มขืน กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม โดยเฉพาะกับเหยื่อที่เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวไม่มิดชิดตามค่านิยมของสังคมไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

สิ่งเหล่านี้จะแก้ได้ ภาครัฐ และสื่อ ต้องร่วมมือกัน ในการรณรงค์ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ว่าวัฒนธรรมการข่มขืน และการโทษเหยื่อ (victim blaming) เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และคนที่ผลิตสื่อเอง ก็จะต้องไม่ผลิตซ้ำ ความรุนแรงเหล่านี้ออกไป เราหวังว่า แนวคิดแบบ “ถ้าไม่รักจะโดนปล้ำ” และนำการข่มขืนมาสร้างความสนุกสนาน จะหมดไปจากสังคมไทยเสียที โดยเฉพาะในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ละคร หรือภาพยนตร์

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง