Inspired People(?): บ้านผีปอบ ตำนานผีป๊อปจากยุค 90

เมื่อเอ่ยถึงปอบในปี 2023 สิ่งแรกที่ปรากฏในความคิดของคุณอาจเป็นเรื่องราวของผีร้ายกินเครื่องในซึ่งอาศัยในร่างคนเปราะบาง อาจเป็นหญิงแก่หรือเด็กเคราะห์ร้ายสักคนในชนบทอันห่างไกลซึ่งอยู่ผิดที่ผิดเวลาไปสักหน่อย หรือหากจะให้ลึกไปกว่านั้น คุณอาจนึกถึงคนแปลกประหลาดที่ถูกสังคมหมู่บ้านขับไล่ให้ไปอยู่โดดเดี่ยว จะแบบไหนก็ไม่ผิดทั้งนั้น แต่หากเราพูดถึงปอบในยุค 90 ภาพของปีศาจร้ายตนนี้จะต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง “ปอบทองหยิบ” หรือ ปอบหยิบ ตัวละครไอคอนจากหนังผี-ตลกที่มีภาคต่อมากที่สุดถึง 14 ภาค น่าจะเป็นตัวเลขที่ยืนยันได้ว่า “บ้านผีปอบ” ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเสียจนถ้าพูดถึงปอบ ทุกคนในยุคนั้นจะต้องเห็นภาพเดียวกัน

ย้อนกลับไปที่ปี พ.ศ. 2532 บ้านผีปอบถือกำเนิดจากไอเดียของสมชาย องอาจ กับเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งที่ร่วมกันตั้งค่ายหนังกรุ๊ปโฟร์ เพื่อหวังตีตลาดต่างจังหวัด สมชายต้องการหลีกหนีความจำเจของหนังผีในยุคนั้นที่วนสร้างกันอยู่ไม่กี่เรื่อง จึงหยิบเอาแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชุด ปีศาจของไทย
ของครูเหม เวชกรมาขยายเป็นบทภาพยนตร์ ก่อนจะติดต่อให้สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้กำกับละครที่กำลังมือขึ้นในขณะนั้นมาช่วยทำหนังให้

ผลลัพธ์ก็คือ สายยนต์ไม่มีความสนใจในโปรเจ็กต์นี้แม้แต่น้อย เพราะเขามั่นใจเต็มร้อยว่าหนังจะเจ๊งแน่นอน เขาให้ความเห็นว่าตัวบทประพันธ์เรื่องนี้เป็นเรื่องรักรันทดที่คนต่างจังหวัดซึ่งเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตอยู่แล้ว ไม่ยอมเสียเวลามานั่งดูแน่นอน เขาจึงเสนอให้เปลี่ยนมาทำหนังผีตลกแทน นายทุนยินยอมโดยดีภายใต้ข้อแม้ว่า หนังต้องพร้อมฉายในหนึ่งเดือน เพื่อให้ทันคิวฉายที่ไม่มีหนังอื่นออกมาชน

หากการที่สายยนต์ภายหนังจบได้ภายใน 12 วัน โดยไม่มีการลากคิวถ่ายทำข้ามวันเลยแม้แต่น้อยเป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว เรื่องที่เหลือเชื่อกว่านั้นคือ “บ้านผีปอบ” ของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงามจนสายหนังต้องมาขอค่ายให้สร้างภาคต่อ และในภาคที่สองนี้เอง คือจุดกำเนิดของบอปทองหยิบ ตัวละครแสดงโดย “ณัฐนี สิทธิสมาน” ผู้มาพร้อมท่าจีบมือหยิบอันเป็นเอกลักษณ์

ทองหยิบ ปอบตนใหม่ของเรื่องเป็นหมอผีจอมละโมบที่ทำผิดครูจนต้องกลายเป็นปีศาจ ผู้กำกับตั้งใจให้ตัวละครนี้ออกมามีสไตล์เป็นตัวการ์ตูนตลกแบบเต็มขั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เธอต้องไล่ล่าเหยื่อด้วยวิธีพิศดารมากมาย ทั้งปั่นจักรยาน บินด้วยพัดสันกำแพง หรือกระโดดตามลงไปถึงในตุ่มที่มีคนกระโดดลงไปมากมาย การออกแบบของสายยนต์ลดความน่ากลัวของผีร้ายกินเครื่องในลงให้กลายเป็นนักล่าชวนหัวแบบ Wile E. Cototy หรือ Tom ใน Tom & Jerry จึงไม่น่าแปลกใจที่ปอบทองหยิบจะกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีผู้ชมรักมากมาย เป็นผีที่ทำให้คนทั้งกลัวและขำจนตลกเก้าอี้ได้อย่างไม่ยากเย็น

สถิติที่น่าสนใจอีกประการของสายยนต์กับบ้านผีปอบก็คือ เขาทำหนังบ้านผีปอบไปทั้งหมด 6 ภาค (1-7 โดยข้ามภาค 5 ไป) ภายในเวลา 3 ปีครึ่ง ตัวเลขนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมหนังสำหรับฉายกลางแปลงในช่วงต้นยุค 90 ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังพิสูจน์ว่าพื้นที่ของความบันเทิงนอกเมืองนั้นออกผลได้งอกงามไม่แพ้โรงหนังในกรุงตั้งแต่ตอนนั้น เช่นเดียวกับที่สตูดิโอผลิตหนังฉายต่างจังหวัดยุคใหม่ได้พิสูจน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง