Inspired People (?): นางนาก ตำนานอมตะแห่งพระโขนง

เป็นเรื่องยากที่จะยืนยันได้ว่าเรื่องเล่าสุดคลาสสิกของแม่นาก วิญญาณตายทั้งกลมแห่งพระโขนงมีเค้าโครงจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เราพอจะยืนยันได้ก็คือ เรื่องราวนี้นี้เป็นของโปรดของสังคมไทยแน่นอน เมื่อพิจารณาความอยู่ยงคงกระพันของภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ฉบับปี 2542 รายได้ระดับปรากฏการณ์ของ “พี่มาก..พระโขนง” ในปี 2556 รวมกับจำนวนของการดัดแปลง ขยับขยายเรื่องราว และตีความใหม่อีกนับไม่ถ้วน

หรือพูดอีกแบบก็คือ แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าตำนานนี้มาจากเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ตัวตนของแม่นากในสังคมก็จัดเจนแจ่มแจ้งเหลือเกินในสังคมไทย

ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างแม่นากพระโขนงกับวงการภาพยนตร์ก็คือ เรื่องราวของผีสาวที่รอคอยคนรักกลับจากสงครามเรื่องนี้ ถูกสร้างเป็นหนังเงียบขาวดำในชื่อ “นางนาคพระโขนง” มาตั้งแต่ปี 2476 หรือก็คือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเพียงปีเดียว ตามด้วยภาคใหม่ ภาคพิเศษ อีก 3 เวอร์ชั่นภายใน 15 ปี ก่อนที่จะกลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างหนังผีซ้ำแล้วซ้ำเล่านับไม่ถ้วนในช่วงที่ประเทศฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีภาคพิสดารตามมาอีกเป็นพรวนทั้ง แม่นาคคะนองรัก (2511) แม่นาคพระนคร (2513) แม่นาคอเมริกา (2518) แม่นาคบุกโตเกียว (2519) ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมอีกหลายสิบเรื่องก่อนที่จะมาถึง นางนาก (2542) ผลงานการกำกับภาพยนตร์ของนนทรีย์ นิมิบุตร

นักวิชาการภาพยนตร์ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าบรรดาหนังแม่นาคทั้งหลายในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกับคลองพระโขนงให้เป็นเส้นทางสัญจรสมัยใหม่ หนังที่ใช้ภาพทิวทัศน์เก่าของกรุงเทพจึงถือเป็นเครื่องมือระลึกถึงวันคือเก่า ๆ ของผู้คนในยุคสมัยนั้น ส่วนเรื่องราวของการอคอยคนรักกลับจากสงครามก็กลายเป็นเรื่องเล่าคลาสสิกสำหรับคนยุคหลังสงครามโลกได้อย่างไม่ยากเย็น 

แต่นางนากฉบับอินทิรา เจริญปุระ กับวินัย ไกรบุตรนั้นต่างออกไปเพราะหนังถูกสร้างหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ความสมจริงสมจังของเนื้อหาว่าด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อจะรักษาความรักเอาไว้ของตัวละครนางนากและพ่อมากนั้นเกี่ยวโยงเข้ากับอุดมคติที่คว้าจับได้ยากยิ่งของชนชั้นกลางหลังภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่หลายครอบครัวกระจัดกระจายกันไปคนละทาง แต่ก็ยังนับได้ว่าความภักดีเช่นนี้เป็นภาพที่งดงามพอจะฝันถึงได้ ความสำเร็จด้านรายได้ของ “นางนาก” ที่สื่อทั่วประเทศพร้อมใจกันโหมกระพือยิ่งทำให้ตำนานนี้หนักแน่นยิ่งขึ้นในฐานะความหวังของอุตสาหกรรมบันเทิงที่กำลังจะฟื้นตัวจากเถ้าถ่าน ก่อนที่ “พี่มาก..พระโขนง” จะตามมาสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งด้วยรายได้ทั่วประเทศหลักพันล้านในอีกสิบกว่าปีถัดมา

หรือจะพูดว่า ตำนานแม่นากเซฟหนังไทยเอาไว้หลายต่อหลายครั้งก็คงจะไม่เกินเลยนัก 

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง