“ด้วยรักและผุพัง” ชวนตั้งคำถามกับการเป็นไปของ “เพศหญิง” ในครอบครัวเชื้อสายจีนที่มีจิตใจและความรู้สึก

“ด้วยรักและผุพัง” หนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2566 ที่พึ่งผ่านการประกาศมาหมาดใหม่ ชี้ชวนให้เห็นบรรยากาศการเล่าหลากหลายเรื่องสั้นที่ร้อยรัดผูกโยงเข้าด้วยกัน ฉายภาพของความผูกพันธ์อบอุ่นของครอบครัวเชื้อสายจีนให้อารมณ์เหมือนที่เราต่างคุ้นชินกันในละครหลังข่าว ที่วันเกิดของอากงลูกหลานรวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา

ระหว่างบทสนทนาในมื้ออาหารมีอาม่าคีบกล้ามปูชิ้นใหญ่ให้ลูกชายทุกคน คีบกุ้งตัวโตให้หลานชายของลูกชายคนโต ส่วนลูกสาวที่ตบแต่งออกครอบครัวไปใช้นามสกุลของสามี หรือแม้แต่ลูกสะใภ้ผู้แบกความหวังความดีความชอบไว้กลับไม่ได้อะไรเลย — หากคุณเป็นหนึ่งในครอบครัวเสื้อสายจีนคุณจะพยักหน้าตอบทันทีว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ผิดแผดแตกต่างไปจากชีวิตจริงเท่าไหร่

วันรวมญาติ การประกอบพิธีกรรมในวันมงคล ลูกชายเป็นใหญ่ ลูกสาวเป็นรอง ความรักที่มากล้นจนกลายเป็นกรอบกรงที่คุมขัง คนรอบตัวที่หลายครั้งก็สนใจใคร่รู้ในชีวิตเรามากกว่าพ่อแม่แท้ ๆ เรื่องสั้น Family Comes First “ด้วยรักและผุพัง” ผลงานของนักเขียน “นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์” ได้เก็บเอารายละเอียดมวลรวมความรู้สึกมาเล่าอย่างละเมียดไว้ทั้งหมดแล้วในเล่มนี้

แต่สิ่งที่เราอยากหยิบยกมาแชร์นั้นคือบริบทของผู้หญิงในครอบครัวเชื้อสายจีนจากเรื่อง “ผู้ให้กำเนิด” นอกจากการปรนนิบัติทุกคนในครอบครัวของสามีแล้วยังต้องแบกรับความปวดร้าวของการเป็นลูกสะใภ้ที่ถูกตีตราว่าลูกคนแรกต้องได้ลูกชายให้กับวงศ์ตระกูลแต่หากได้ลูกสาวก็จะถูกเพิกเฉยไร้การเหลียวแล หนักหน่อยก็คือการเลือกไม่เก็บไว้เหมือนภายในเรื่อง การกระทำเพื่อครอบครัววงศ์ตระกูลที่มีเธอ (ผู้เป็นสะใภ้) เป็นเสมือนเครื่องจักรไร้ชีวิตและจิตใจ ที่ใช้มดลูกเพื่อการคลอดบุตรที่ต้องเป็นลูกชายเท่านั้น

— ซึ่งขั้นกว่าของวัตถุทางเพศ แม้แต่สามี หรือในฐานะของลูกชายคนโต (ตั๋วเฮีย) ก็มักจะถูกเอาอกเอาใจมากจนเกินเหตุตั้งแต่เด็ก ๆ และแน่นอนพอมีภรรยาเขาก็เป็นเพียงผู้สืบพันธุ์อย่างไร้ข้อกังขา ปฏิบัติตามคำสั่งของครอบครัวอย่างว่าง่ายเพื่อให้ได้มา “ทายาทที่เป็นผู้ชาย” กับความพึงพอใจไปตลอดจนถึงมรดกตกทอดที่มักจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าของตระกูลในฐานะของผู้สืบสกุล

“ด้วยรักและผุพัง” จากสำนักพิมพ์ Salmon Books คือหนังสือรวมเรื่องสั้น 11 เรื่อง ที่มีตัวละครหรือฉากเกี่ยวข้องกับครอบครัวเชื้อสายจีน ผ่านความทรงจำ ความเชื่อ และวัฒนธรรม ชวนผู้อ่านตั้งคำถาม ความกตัญญู ความรักและความคาดหวังที่ครอบครัวมีต่อลูกหลาน และลูกหลานมีต่อครอบครัว เป็นเรื่องสั้นที่ชวนให้ผู้อ่านอ่านแล้วมาตั้งคำถามว่า — ครอบครัวและความผูกพันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจริงหรือ ?

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง