Inspired People: Hunter Schafer “เควียร์และฮีโร่”

ทั้งหนังสือการ์ตูน นิยายภาพ และบรรดาเรื่องเล่าไซไฟทั้งหลายต่างเล่าเรื่องเดียวกัน “ตัวเอกในนั้นมักจะเป็นคนที่แปลกแยกจากสังคม ให้ความรู้สึกที่พวกเด็กเควียร์กับทรานส์ซึ่งเติบโตมาในที่ที่ไม่มีใครเหมือนกับเราพอจะเชื่อมโยงได้อยู่นะ” ฮันเตอร์ เชเฟอร์ นักแสดงหญิงข้ามเพศที่สร้างชื่อจากบทของจูลส์ วอห์น ในซีรีส์ Euphoria กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของ i-D (สื่อออนไลน์หนึ่งในเครือ Vice)

หากจะถือนิยามตามนี้ ฮันเตอร์ เชเฟอร์ก็ดูจะใกล้เคียงกับฮีโร่ในการ์ตูนที่เธอว่ามาอยู่พอสมควร

อันที่จริง เธอเป็น “ฮีโร่” ยิ่งกว่านั้นอีก

นอกจากเป็นนักแสดงและผู้ร่วมเขียนบทซีรีส์ เชเฟอร์ยังเป็นนางแบบ ศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างชื่อขึ้นมาจากศูนย์ นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และโจทก์ที่อายุน้อยที่สุดใน America Civil Liberties Union ที่ร่วมกันยื่นฟ้องล้มรัฐบัญญัติความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในบริการสาธารณะ HB2 หรือกฎหมายบังคับใช้สุขาสาธารณะตามเพศกำเนิดของแคลิฟอร์เนียเหนือเมื่อปี 2016

“มันเป็นกฎหมายแบนการคุ้มครองชุมชน LGBTQ ทั่วทั้งรัฐจากการกีดกันที่ส่งผลแย่เอามาก ๆ พอถูกวิพากษ์หนักเข้า ผู้ว่าการรัฐแพท แม็กโครรี่ ก็ดันออกมาโต้ว่าการแบ่งห้องน้ำตามเพศกำเนิดเป็น ’สามัญสำนึกปกติ’ มันจะปกติได้ยังไงถ้าฉันต้องถูกบังคับให้เสี่ยงอันตรายไปใช้ห้องน้ำชาย ฉันทั้งหวาดกลัวและอยากจะสู้กลับสุด ๆ ไปเลย หลังกฎหมายฉบับนี้ผ่านไ่กี่สัปดาห์ ฉันเลยโดดเข้าร่วมวงกับสหภาพ สำนักกฎหมายแลมบ์ดา และโจทก์อีกจำนวนหนึ่งในการยื่นฟ้องล้มกฎหมายนี้”

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่การต่อสู้ครั้งแรกและชัยชนะครั้งสุดท้ายของเชเฟอร์ในฐานะคนข้ามเพศรุ่นเยาว์ 

“ตอนอายุเท่านั้น ฉันเองก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบจูลส์ (Euphoria) หรอกนะ” เชเฟอร์กล่าวอย่างอารมณ์ดีในบทสัมภาษณ์ของ Marie Claire นั่นอาจแค่เปนมุกตลกที่เธออิงถึงพฤติกรรมแซ่บ ๆ ของตัวละครในเรื่อง แต่การเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงร่างกายตอนเริ่มเรียนไฮสกูลที่เธอเล่ามันก็ดูสาหัสทางใจจริง ๆ สำหรับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ยังดีที่เธอค้นพบว่าโซเชียลมีเดียในตอนนั้นทำหน้าที่เป็นทั้งที่พักใจและพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมในการก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นด้วยตัวเอง บทเรียนมากมายที่เธอได้จากการแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่เคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันสอนให้เธอสู้เพื่อตัวเองและคนอื่น ๆ

ปัจจุบัน ฮันเตอร์ เชเฟอร์ในวัย 24 ปีประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเป็นแฟชั่นไอคอน ยังคงเป็นศิลปินที่สนใจในงานการ์ตูน นิยายภาพและต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านั่นจะทำให้เธอถูกเชิดชูเป็นแบบอย่างให้กับผู้คนในชุมชน LGBTQ มากมาย แต่เธอก็ยังไม่มั่นใจนักที่จะถูกมองเป็นไอดอล “ฉันว่าการแบกรับคำนั้นมันออกจะหนักไปสักหน่อยนะ” เธอยืนกรานว่าตัวเองไม่ได้ต้องการจะมีชีวิตเพื่อความคาดหวังของผู้คน 

“แต่ฉันเองก็ไม่รู้หรอกว่า ฉันจะเลือกให้มันเป็นแบบนั้นได้หรือเปล่า”

เช่นเดียวกันกับหนังสือการ์ตูนแทบทุกเรื่อง ตัวเอกไม่ได้เลือกว่าเขาหรือเธอจะได้เป็นฮีโร่หรือเปล่า

สิ่งพวกเขาทำต่างหากที่นิยามมันขึ้นมา

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง