ธรรมศาสตร์อนุมัติ นักศึกษาที่มีประจำเดือนลาหยุดได้โดยไม่กระทบการเรียน

ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งทั้งในวงการการศึกษาและสร้างมาตรฐานใหม่ขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้มีประจำเดือน เมื่อเพจองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ประกาศที่ลงนามโดย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน โดยมีเนื้อความดังนี้

“เนื่องจากพบว่ามีนักศึกษาผู้มีประจำเดือนมีอาการต่างๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนวิตกกังวลง่าย มีพฤติกรรมแยกตัวจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ไม่มีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงระยะเวลาของการมีประจำเดือน ซึ่งนักศึกษามีความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในชั้นเรียน แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้เนื่องจากมีอาการดังกล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการพิจารณาแล้วเห็นความสำคัญและความจำเป็นของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวข้างต้น จึงขอความร่วมมือคณะ สถาบัน วิทยาลัย แจ้งอาจารย์ผู้สอนพิจารณาอนุญาตให้นักศึกษาผู้มีประจำเดือนที่ได้รับผลกระทบจากอาการดังกล่าวสามารถลาหยุดได้โดยไม่กระทบกับการจัดการเรียนการสอน”

การอนุญาตให้ลาพักช่วงมีประจำเดือนเป็นนโยบายที่ถูกยอมรับหลายที่ทั่วโลก เช่น

ในอินโดนีเซีย รัฐบัญญัติแรงงานมาตรา 13 กำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาช่วงมีประจำเดือนได้ 2 วันแยกออกมาจากสิทธิการลาหยุดอื่น ๆ 

ไต้หวันกำหนดให้มีวันลาสำหรับผู้มีประจำเดือน 3 วันต่อปี โดยไม่นับรวมสิทธิลาป่วยทั่วไป 30 วัน และยังได้ค่าจ้างหนึ่งหนึ่งหากแรงงานไม่ได้ใช้สิทธิลาเกินกำหนด 3 วันนี้

ในยุโรปก็มีสเปนเริ่มมีการให้ลาพัก 3-5 วันโดยจ่ายค่าแรงเต็ม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023

ส่วนในทวีปแอฟริกา ประเทศแซมเบีย อนุญาตให้แรงงานหญิงลาหยุด 1 วัน โดยถือว่าวันนั้นเป็น “วันแม่” พร้อมทั้งมีบทลงโทษนายจ้างที่ปฏิเสธการลามาตั้งแต่ปี 2015   

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง