ชวนติดตามมิติความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก, บาร์คาบาเร่ต์, ทรานส์เจนเดอร์ และการถูกยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง กับ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก”

เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติทาง Genderation เราจึงขอแนะนำภาพยนตร์รัก ที่มี “ทรานส์เจนเดอร์” เป็นพล็อตหลัก ดีกรีรางวัลสุพรรณหงส์เรื่อง It Gets Better “ไม่ได้ขอให้มารัก” กำกับโดยคุณ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ มาแนะนำกันค่ะ

เรื่องราวความรักความสัมพันธ์ 3 เส้นเรื่อง 2 แห่งหนทั้ง เชียงใหม่ และ พัทยาแต่ก็มีการเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจและสามารถสร้างความประทับใจในท้ายเรื่อง

ตั้งแต่เรื่องราวของสายธาร หรือเจ๊น้ำ สาวประเภทสองรุ่นใหญ่ที่กลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่ รับบทโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล เธอมีหมุดหมายกลับไปหาพ่อของเธอที่กำลังอยู่ในวัยชรา ด้วยความบังเอิญทำให้เธอพบช่างมอเตอร์ไซค์หนุ่มหล่อที่ปราศจากการรังเกียจสาวประเภทสอง รับบทโดยปั้นจั่น ปรมะ อิ่มอโนทัย ก่อเกิดเป็นความหลงใหลมากกว่า One Night Stand ในฐานะคนดูเราจะเห็นแง่การไม่ขวยเขินรังเกียจ หรือมองสาวทรานส์ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็คือตกลงคบหากันเป็นคู่รัก คู่หนึ่งนั่นแหละ แต่ท้ายที่สุดความสัมพันธ์ของสายธารในฐานะสาวประเภทสองเมื่อรักกับผู้ชายแล้วจะพัฒนาลงเอยยังไงอันนี้ไม่อาจสปอยด์ถ้าอยากทราบต้องไปตามดูพร้อมกัน

กับต้นไม้ รับบทโดยซาหริ่ม ภาณุพงศ์ หนุ่มนักเรียนนอกที่กลับมา Take Over บาร์คาบาเร่ต์ที่พัทยา จากที่พ่อที่ไม่เคยเห็นหน้าคาดตาของเขายกให้ กับการตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะรับช่วงทำต่อ หรือปล่อยขายไป ระหว่างนั้นก็ทำให้เขาเองเกิดความรู้สึกดี ๆ กับคนขับรถตู้สาวทรานส์สุดห้าวอย่าง ต้นหลิวรับบทโดย เบลล์ นันทิตา สู่เหตุการณ์ One Night Stand เหมือนกัน แต่การยอมรับ และการก้าวข้ามผ่านกรอบเพศยังเป็นเรื่องยากของเขาสักหน่อยคู่นี้จะลงเอยแบบไหนก็เป็นสิ่งที่น่าติดตาม

และ ดิน รับบทโดยพาวิช ทรัพย์รุ่งโรจน์ เด็กหนุ่มที่ถูกพ่อจับได้ว่าแอบใส่ชุดของแม่ผู้ล่วงลับมาเต้นเปิดฟอร์หน้ากระจก มีจริตมีจิตใจเป็นผู้หญิงจึงถูกส่งไปบวชเรียนที่วัดในหมู่บ้านที่เชียงใหม่เป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกเหนือจากดินจะแอบชอบหลวงพี่แสงรับบทโดยกฤษตญาพนธ์ ธนะนารา ที่ดินเองรู้สึกว่ายิ่งตนถลำลึก ตกหลุมรัก แสดงออกว่ารักมากเท่าไหร่ ตัวเขาเองกลับถูกรังเกียจจากคนที่เขาชอบมาเท่านั้น จุดเด่นของพาร์ทตัวละครนี้จะพาเราในฐานะคนดูตั้งคำถามไปด้วยกับการยอมรับของพ่อ ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ อย่างเต็มอกได้หรือไม่ การท้าทาย พร้อมกับความเจ็บปวดของดินที่มักจะคิดว่าเขาคือจุดด่างพร้อยที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง ก่อเกิดความรู้สึกของการไม่ถูกยอมรับ และ ไม่เป็นที่รักมาโดยตลอด ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ-ลูก หรือแม้แต่เขา – หลวงพี่แสง ก็ตาม เราจะเห็นว่าตัวละครพยายามยอมรับตัวเองพร้อมกับเป็นคำถามปลายเปิดราวกับตั้งคำถามกับคนดู จากตัวละครอีกทอดหนึ่งว่าที่จริงแล้วพ่อของดิน ก็เข้าใจเรื่องนี้ที่เขามีจิตใจเป็นผู้หญิงและยอมรับเขามาโดยตลอด และหากความต้องการอยากให้เขาบวช เป็นเพียงพิธีกรรมที่อยากให้ดินทำเพื่อแม่ผู้ล่วงลับจากไปเท่านั้นไม่ใช่การขับไสไล่ส่ง หรือมีความละอายที่มีลูกชายเป็น LGBTQ ใช่ไหมนะ

เอาเป็นว่าทั้ง 3 พาร์ทที่เล่าแบบสลับสับเปลี่ยนกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมดทุกตัวละครกลับมาสู่เส้นเรื่องเดียวกัน และสามารถทำงานกับความรู้สึกของคนดู พร้อมกับคำถามที่สะกิดให้เราฉุดคิดในแง่ความสัมพันธ์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศ ได้อย่างตรงไปตรงมา

หากใครยังไม่ได้ดูก็อยากแนะนำให้ดูจริง ๆ นะ

It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก รับชมได้ที่ Netflix

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง