Genders: 2023 Years in Review ย้อนดู 5 ข่าวใหญ่ ที่เกี่ยวกับเพศและความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทย

ปี 2023 กำลังจะผ่านพ้นไป สำหรับปีนี้ (2023) ถือได้ว่าเป็นปีที่คนไทยตื่นตัวเรื่องสิทธิทางเพศและความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าปีไหน ๆ ทั้งในโลกออนไลน์และ ออฟไลน์ที่มีการถกเถียงพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่สิทธิทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ สมรสเท่าเทียม และในโลกออฟไลน์ที่มีการจัดงาน Bangkok Pride ใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีคนเข้าร่วมกว่า 50,000 คน การผลักดันกฎหมาย ฯลฯ

เรามาย้อนดูกันว่าปี 2023 นี้มีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้างในแวดวงเรื่องสิทธิทางเพศและความหลากหลายทางเพศ

1. Bangkok Pride

4 มิถุนายน 2566 บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด และกรุงเทพมหานคร เป็นแม่งานร่วมกับองค์กรสิทธิเพศหลากหลายกว่า 30 องค์กร จัดงาน Bangkok Pride โดยปิดถนนบริเวณสยามสแควร์ตั้งแต่หอศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงลานหน้าเซ็นทรัลเวิร์ล เพื่อเดินขบวนพาเหรดภายใต้แนวคิด 6 สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ Well-being) โดยมีดารา นักร้อง นักแสดง นักการเมือง คนดังในแวดวงต่างๆ เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, แพทองธาร ชินวัตร, สส. จากพรรคการเมืองต่างๆ อิงฟ้า วราหะ, เขื่อน ภัทรดนัย, เก่ง ธชย, เกรซ กาญจ์เกล้า ฯลฯ และประชาชนกว่า 50,000 คน เข้าร่วมงานกันอย่างหนาแน่น

ถือเป็นขบวนพาเหรด Pride Month ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นความหวังและแรงผลักดันให้กับประชาชน และสร้างการตื่นรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ อีกด้วย

2. นักการเมืองกับคดีและข้อกล่าวหาเรื่องเพศ

ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักการเมืองและคนดังมากมายที่ถูกข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่เป็นที่จับตามองในสังคมหลังจากที่มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับสมาชิกของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ประกาศตัวยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศ เช่น กรณีของนาย วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี และ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กรุงเทพฯ จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นในพรรค และบางกรณีก็ถูกขับออกจากพรรคฯ

นอกจากกรณีของสมาชิกพรรคก้าวไกล ก็ยังมีคดีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่โดนศาลสั่งจำคุก 4 ปี และให้ชดเชยค่าเสียหายแก่แอนนา ในคดีล่วงละเมิดทางเพศเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท และยังมีคดีอื่นๆ อีก 15 คดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ในบางคดีเช่นพรากผู้เยาว์ ศาลได้ยกฟ้อง และบางคดีขาดอายุความ แต่ก็ยังเหลืออีกหลายคดีที่ยังคงอยู่ในชั้นศาล

3. ดราม่า และการตื่นตัวเรื่องเพศในสังคมไทย

ปี 2566 ถือเป็นปีที่คนไทยมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิเพศและสิทธิความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีการถกเถียง พูดคุยกันในโซเชี่ยลมีเดียถึงประเด็นร้อนแรงในสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเพศและความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศของนักการเมืองคนดัง หรือการวิพากษ์วิจารณ์การพูดในที่สาธารณะของบุคคลมีชื่อเสียงที่มีการดูถูกเหยียดหยามทางเพศ อย่างเช่นกรณีของ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รมว. สาธารณสุข ที่สร้างดราม่า โดยเล่นมุกตลกเกี่ยวกับเพื่อนที่เป็นสูตินารีแพทย์ และ กล่าวในการประชุมสภาส่อไปในทางเหยียดเพศ จึงทำให้เกิดดราม่าร้อนในโซเชี่ยลมีเดียในทันที
ในแวดวงอื่นๆ เช่น นักร้องนักแสดงก็มีดราม่าเพลงและ MV ของนาย คอมเมเดี้ยน ที่ผลิตซ้ำค่านิยม ‘ข่มขืน’ และ ‘ชายเป็นใหญ่’ ในสังคมไทยด้วยเพลง ‘ถ้าไม่รักจะปล้ำ’ จนเกิดกระแสเดือดในโซเชี่ยลพอสมควร

ยังมีกรณีชองยูทูปเบอร์ช่องวิทยาศาสตร์ของ The Standard ที่มีเหยื่อออกมาโพสต์ข้อความถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่มีลักษณะการล่วงละเมิดทางเพศ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคนในวงการคว่ำบาตร จนทำให้ทาง The Standard ต้องลบช่องดังกล่าวออกทันที และอีกกรณีคือนักวาดภาพประกอบชื่อดังที่ก็มีคนออกมาแฉถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเช่นกันจนทำให้นักวาดภาพประกอบคนดังกล่าวต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อ

และกรณีล่าสุดที่กำลังเป็นดราม่าร้อนในขณะนี้คือช่องยูทุปที่ชื่อว่า ‘ครูตี๋ สอนจีบสาว’(@kru_teesonjeebsaw) ที่เป็นคลิปของบุคคลที่เรียกตัวเองว่าครูตี๋ ได้ทำคลิปและขายคอร์สสอนให้ผู้ชายคบชู้ มีเมียน้อย และสอนให้หลอกผู้หญิงเพื่อให้ได้เงิน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากหมายถึงเนื้อหาการดูถูกเหยียดหยามทางเพศ และถึงแม้จะมีดราม่าเป็นข่าว ช่องของเขาก็ยังคงลงคลิปอย่างต่อเนื่อง

4. กฎหมายสมรสเท่าเทียม

21 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีใจความหลักสำคัญการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น เพื่อให้รับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนไม่ว่าจะมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศใดก็ตาม โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เข้าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนถึง 4 ฉบับได้แก่ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างที่นำเสนอโดยภาคประชาชน ร่างที่นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี และร่างที่นำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการทั้งสี่ฉบับในวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และนำไปสู่วาระสองและวารสามต่อไป

นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของประเทศไทยที่จะทำให้สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก้าวหน้าไปอีกขั้น

5. บัตรทองใช้สิทธิผ่าตัดแปลงเพศได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาเปิดเผยในวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมาว่าการผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQIA+ นั้นอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการย้ำเตือนถึงสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศในฐานะสวัสดิการของรัฐ โดย นพ. จเด็จ กล่าวว่าสิทธิดังกล่าวอยู่ในสิทธิของหลักประกันมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่ได้มีการขยายความหรือชี้แจงรายละเอียดทำให้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลไม่ได้ทำการเบิกจ่ายในสิทธิดังกล่าวนี้ จึงได้ย้ำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศได้ทราบถึงสิทธินี้ โดยผู้ที่จะทำการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ นพ. จเด็จ ยังกล่าวว่าทาง สปสช. กำลังจะทำแพ็กเกจการเบิกจ่ายสำหรับทรานส์เจนเดอร์ให้เป็นแพ็กเกจในการเบิกจ่ายร่วมกันเพื่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือน

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง