เดือนกุมภาพันธ์ คือเดือนแห่งประวัติศาสตร์คนผิวดำ: ว่าด้วยการต่อสู้ที่ทับซ้อนกันของขบวนการคนผิวดำและสิทธิสตรี

เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกันหรือคนผิวดำทั่วโลก ที่รู้จักกันในชื่อ Black History Month (BHM) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า African American History Month เป็นการเฉลิมฉลองประจำปีในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, และอีกหลายประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการยกย่องผลงาน ความสำเร็จ และบทบาทสำคัญของชาวแอฟริกันอเมริกันในประวัติศาสตร์

ต้นกำเนิด

  • ในปี 1926 Carter G. Woodson นักประวัติศาสตร์ชาวแอฟริกันอเมริกัน และ The Association for the Study of Negro Life and History ได้กำหนดให้สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็น “Negro History Week” โดยเลือกเดือนกุมภาพันธ์เพื่อตรงกับวันเกิดของ Abraham Lincoln และ Frederick Douglass สองบุคคลที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ชาวแอฟริกันอเมริกัน
  • ในช่วงการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองในปี 1960 มหาวิทยาลัยและชุมชนทั่วอเมริกาเริ่มขยาย “Negro History Week” เป็นการเฉลิมฉลองที่ครอบคลุมทั้งเดือน ในปี 1976 รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้รับรองเดือนกุมภาพันธ์เป็น “Black History Month” อย่างเป็นทางการ

ขบวนการสิทธิสตรี: การต่อสู้คู่ขนาน

ขบวนการสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการจากการประชุมเซเนกาฟอลส์ในปี 1848 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ และความทุกข์ยากของเพศหญิง ทั้งเรื่อง สิทธิทางการศึกษา กฎหมายการแต่งงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีแรก ๆ มักจะทำให้เสียงและประสบการณ์ของผู้หญิงผิวดำถูกมองข้าม ซึ่งสะท้อนถึงอคติทางเชื้อชาติในสมัยนั้น

การทับซ้อนของปัญหา: ที่ที่เชื้อชาติและเพศมาบรรจบกัน

ทฤษฎีแนวคิด “ความทับซ้อนของปัญหา” (Intersectionality) ของคิมเบอร์เล เครนชอว์ ในปี 1989 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงผิวดำ โดยเธออธิบายว่าเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ และลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของแต่ละบุคคล “ทับซ้อน” ซึ่งกันและกันและทับซ้อนกันอย่างไร สำหรับผู้หญิงผิวดำ นี่หมายถึงการเผชิญหน้ากับทั้งการเหยียดเชื้อชาติและการกีดกันทางเพศพร้อมๆ กันในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

ผู้หญิงผิวดำที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์

ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้หญิงผิวดำจำนวนมากมีส่วนสำคัญต่อทั้งขบวนการสิทธิพลเมืองและสิทธิสตรี เช่น Sojourner Truth กับสุทรพจน์อันโด่งดัง “Ain’t I a Woman?” หรือ Ida B. Wells นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิสตรี เป็นตัวอย่างการต่อสู้แบบคู่ขนานที่ผู้หญิงผิวดำต่อสู้ทั้งในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว และสิทธิสตรี หรือในยุสมัยที่ใกล้เข้ามาก็มี Rosa Park ซึ่งปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถบัสที่แยกสีผิวจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการสิทธิพลเมือง หรือ Angela Davis นักกิจกรรม นักวิชาการฝ่ายซ้ายที่โด่งดังจากผลงานของเธอเกี่ยวกับเชื้อชาติ ชนชั้น สตรีนิยม และระบบเรือนจำของสหรัฐฯ

ปัญหาและความท้าทายร่วมสมัย

ปัจจุบัน ผู้หญิงผิวดำยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างสำหรับผู้หญิงผิวดำซึ่งน้อยกว่าชายและหญิงผิวขาวอย่างเห็นได้ชัด ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน โดยผู้หญิงผิวดำมีอัตราการเสียชีวิตจากการคลอดบุตรที่สูงกว่า และมีความเสี่ยงของโรคต่างๆมากกว่าด้วย เช่น มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ ผู้หญิงผิวดำมักเผชิญกับ ‘ภาระสองเท่า’ ของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและเพศ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และการดูแลสุขภาพ

เดือนประวัติศาสตร์คนผิวดำมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอการต่อสู้และชัยชนะของผู้หญิงผิวดำ ถึงเวลาต้องไตร่ตรองว่าเชื้อชาติและเพศมามีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ้อนทับกันอย่างไร และส่งผลต่อชีวิตของผู้หญิงผิวดำมากแค่ไหน เดือนนี้ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความจำเป็นอย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบายและความคิดริเริ่มที่จะจัดการกับความท้าทายที่ทับซ้อนกันนี้ด้วย

Black History Month และขบวนการสิทธิสตรีตอกย้ำลักษณะที่ทับซ้อนของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับรู้และจัดการกับความท้าทายเฉพาะ ที่ผู้หญิงผิวดำต้องเผชิญ ในขณะที่สังคมยังคงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้หญิงผิวดำจะต้องได้รับการยอมรับและบูรณาการเข้ากับเรื่องเล่าทั้งทางเชื้อชาติและเพศ แนวคิดเรื่องการทับซ้อนนี้ไม่เพียงจะทำให้เราทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้เท่านั้น แต่ยังนำทางเราไปสู่อนาคตที่เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นอีกด้วย

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง