อาจต้องใช้เวลานานถึง 300 ปี! เลยนะ กว่าผู้หญิงทั่วโลกจะได้รับความเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ในวันสตรีสากล Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมากล่าวเตือนว่า มันอาจต้องใช้เวลานานถึง 300 ปีเลยทีเดียว ผู้หญิงทั่วโลกถึงจะได้รับความเท่าเทียมทางเพศ

นั่นเป็นเพราะตอนนี้มีการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสตรีแพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ ทำให้การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน

ในอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของตาลีบัน สตรีและเด็กหญิงถูกจำกัดสิทธิเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเรียนหนังสือเกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ห้ามทำงานนอกบ้าน และห้ามเข้าพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะและร้านทำผม ล่าสุดยังมีการจับกุมสตรีและเด็กหญิงเพียงเพราะแต่งกายไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ทำให้พวกเธอต้องอยู่กับความหวาดกลัว กลัวแม้กระทั่งการออกไปนอกบ้าน

นอกจากนี้ยังมีรายงาน ปัญหาความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศ และการขาดตัวแทนสตรีในพื้นที่ทางการเมือง ผู้หญิงและเด็กหญิงยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาความยากจน ความหิวโหย ภัยพิบัติทางภูมิอากาศ สงคราม และการก่อการร้าย

ท่ามกลางกระแสต่อต้านสิทธิสตรีและความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศที่เพิ่มสูงขึ้น สหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พร้อมเสนอ “แผนเร่งความเท่าเทียมทางเพศ” เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการออกนโยบายช่วยส่งเสริมสิทธิสตรี

กลับมาที่สังคมไทย ถึงแม้ว่าความเท่าเทียมทางเพศจะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ผู้หญิงไทยยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกีดกันทางการเมือง แม้แต่ในที่ทำงาน ผู้หญิงหลายคนก็ยังได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าผู้ชายในตำแหน่งงานเดียวกัน (จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงน้อยกว่าผู้ชาย 17.5%)

นอกจากนี้ สังคมไทยยังมีค่านิยมและทัศนคติที่เป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ความคาดหวังให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน การมองว่าลูกชายสำคัญกว่าลูกสาว หรือการตัดสินผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สตรีถูกจำกัดโอกาสในการใช้ชีวิตและการทำงาน

อย่างไรก็ตาม เราเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิสตรีมากขึ้น เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ผู้หญิงมีบทบาทในแวดวงการเมืองและธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อความเท่าเทียม

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่ภาครัฐเท่านั้นที่ต้องลงมือแก้ไข ภาคประชาชนอย่างพวกเราทุกคนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยกันลดอคติทางเพศและสร้างสังคมที่เสมอภาค

เริ่มจากการปรับมุมมองและทัศนคติของตัวเอง ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉยต่อการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น ให้เกียรติและโอกาสที่เท่าเทียมแก่ทั้งหญิงและชาย เมื่อเราเปลี่ยนความคิดและการกระทำในแต่ละวัน มันจะค่อย ๆ ขยายไปสู่คนรอบข้าง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง  เพื่อสร้างสังคมไทยที่ทุกเพศทุกวัยต่างก็มีพื้นที่ยืนอย่างเท่าเทียมกัน

ที่มาข้อมูล: https://www.yahoo.com/news/un-chief-legal-equality-women-050146663.html

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง