Watch and Learn: Poor Things “เธอถูกสร้างมาเพื่ออะไร?”

Poor Things
2023 | Yorgos Lanthimos

คนมักพูดกันว่า “อะไรที่ฆ่าเราไม่ตายจะทำให้เราแกร่งขึ้น” คำกล่าวนี้เป็นจริงแค่ครึ่งเดียวสำหรับเบลลา แบกซ์เตอร์ (Emma Stone) เมื่ออะไรสักอย่างเป็นเหตุให้หญิงท้องแก่เลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดสะพาน สิ่งนั้นพรากชีวิตไปจากร่างของเธอแล้วจริง ๆ ทว่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ก็อดวิน แบกซ์เตอร์ (Willem Dafoe) ได้แสดงปาฏิหาริย์เทียมพระเจ้าด้วยการปลุกชีพเธอขึ้นมาแล้วใส่สมองของทารกในท้องเข้าไปแทน

เมื่อมองอย่างผาดเผิน งานทดลองของก็อดวินอาจเป็นเพียงการเล่นสนุกสนองความอยากรู้อยากเห็นอันบิดเบี้ยวของอัจริยะที่มีปม ทว่าสันนิษฐานข้อนี้ก็ตกไปทันทีเมื่อเขาตัดสินใจจะปล่อยให้เบลลาออกไปท่องโลกกับดันแคน เวดเดอร์เบิร์น (Mark Ruffalo) นักกฎหมายจอมกะล่อนที่ไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่าความสำราญทางเนื้อหนังจากหญิงสาวสมองเด็ก การปล่อยเบลลาออกไปเผชิญโลกคือการทดลองมอบความรักอย่างที่เขาไม่เคยได้ และนำไปสู่การท้าทายกรอบกรงที่ใหญ่โตกว่านั้น นั่นคือจารีตของการเป็น “กุลสตรี” ในยุควิกตอเรียน ซึ่งเป็นรากฐานของการกำหนดบทบาทแห่งเพศที่ยังมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน

ถือเป็นโชคสำหรับทั้ง Poor Thing และ Barbie ที่ได้ออกฉายในปีเดียวกัน เพราะหนังทั้งสองเรื่องต่างพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิง ในโลกที่ผู้ชายต่างขมวดคิ้วรำคาญใจเมื่อพวกเธอลุกขึ้นมาตั้งคำถาม หรือท้าทายขนบที่พวกเขากำหนดไว้ให้ บนฉากทัศน์อันเหนือจริงสุดขั้ว เรื่องหนึ่งให้ตุ๊กตาพลาสติกออกจากโลกสมมติมาเผชิญหน้ากับโลกจริง ขณะที่อีกเรื่องก็จับเอาวิญญาณอิสระสุดขีดของเด็กมาใส่ในร่างผู้ใหญ่ การจับหนังทั้งสองมาเทียบว่าเรื่องไหนดีกว่ากันถือเป็นมุมมองอัตวิสัยของแต่ละคน แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองเรื่องกำลังสนับสนุนกันและกันอยู่ไม่น้อย ในแง่ที่ว่ามันชวนให้เรามาทบทวนกันอีกครั้งว่า การตัดสินให้ใครทำอะไร เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนโดยใช้เพศกำเนิดเป็นที่ตั้งนั้นยังมีความชอบธรรมอยู่มากน้อยแค่ไหนกัน

ส่วนที่ผู้เขียนคิดว่า Poor Things พาเราไปสำรวจได้ไกลกว่า Barbie อยู่สักหน่อยคืออำนาจของผู้หญิงในความสัมพันธ์ทางเพศ (แน่นอน ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังจะให้หนังเกี่ยวกับของเล่นเด็กมีฉากเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว) เราจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เบลลาค้นพบ “ความเสียว” ด้วยตัวเอง มันก็เป็นพาหนะสำคัญที่จะพาเธอไปยังจุดที่ต้องการเสมอ ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากจุดนี้ก็คือ ในเกือบทุกเรื่องเล่า เราแทบไม่ได้เห็นผู้ชายใช้เซ็กส์เพื่อเป้าหมายอื่นนอกจากนอกจากสนองความใคร่ หรือหากมันจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายอื่นจริง มันก็เป็นการเดินทางที่ไร้ความสุขสม ทว่ากับผู้หญิงแล้วมันไม่เป็นเช่นนั้น มีเรื่องราวมากมายที่ปรากฏว่าผู้หญิงใช้มันเป็นเครื่องมือโดยไม่สนความพึงใจ และมีอีกไม่น้อยที่พวกเธอได้ทั้งสองอย่าง เบลลาคือหนึ่งในนั้น อำนาจของเธอยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ตั้งแต่การทำให้เวดเดอร์เบิร์นถูกพลิกสถานะเป็นรอง ใช้มันแลกเงิน ไปจนถึงการเปลี่ยนตัวเองเป็นตัวท็อปในบ้านนางโลม 

การเมืองเรื่องอำนาจแห่งเพศนี้ชวนให้นึกถึงข้อความบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเกาหลีใต้ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วสังคมเมื่อไม่นานมานี้ ข้อความดังกล่าวนั้นคือ “อำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้หญิงคือการคลอดบุตร” ถือเป็นการโจมตีเข้ากลางเป้าของสังคมที่ได้รับอิทธิพลควมคิดเรื่องเพศจากลัทธิขงจื๊อมาอย่างช้านาน เมื่อผู้หญิงไม่ให้ความร่วมมือเสียแล้วก็จะไม่มีเด็กถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ นั่นหมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจระดับชาติที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน หากใครคิดจะแก้ไขกรอบอันคับแคบที่ใช้บีบคั้นพวกเธอ

ทั้งเรื่องราวของเบลลาและข้อความในหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ฉบับนั้น ชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่มีกรอบศีลธรรมเรื่องเพศมากำกับ ผู้หญิงจะทำสิ่งที่ผู้ชายหวาดกลัวโดยที่พวกเขาไม่อาจต่อต้าน

นั่นคือการขึ้นสู่อำนาจ

ด้วยความสัตย์จริง เราทุกคนต่างรู้ดีอยู่ว่าโลกที่ผู้ชายปกครองเป็นส่วนมากอย่างตอนนี้มันก็ไม่ได้ประเสริฐอะไรนักอยู่แล้ว

Poor Things ถือเป็นความร่วมมือที่น่าประทับใจอีกครั้งของผู้กำกับ Yorgos Lanthimos และนักเขียน Tony McNamara (ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วใน The Favourite – 2018) วิสัยทัศน์และการประกอบสร้างอันฉูดฉาดในมือของ Lanthimos ไปด้วยกันกับบทของ McNamara ได้อย่างดีเยี่ยมจนเราแทบไม่ตะขิดตะขวงใจเลยว่ากำลังดูเรื่องราวของ “เด็กไม่ประสาถูกชายไร้ศีลธรรมล่อลวง” แต่มันก็ไม่ได้ผิดนัก เมื่อพิจารณาว่าปลายทางของเรื่องเล่าเรื่องนี้คือการสะท้อนภาพอำนาจตามธรรมชาติในการเรียนรู้ทำความเข้าใจอำนาจที่ทุกคนพึงมีอย่างเสมอหน้ากัน

และในท้ายที่สุดแล้วทั้งเบลลาและบาร์บี้ ก็ได้เข้าใจว่าคำถาม “ฉันถูกสร้างมาเพื่ออะไร” นั้นไม่ได้สำคัญอีกต่อไป

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง