ประวัติศาสตร์และความสำคัญของ MET Gala เมื่อแฟชั่นพบกับพลังทางสังคม

MET Gala หรือที่รู้จักในชื่ออย่างเป็นทางการว่า Costume Institute Gala หรือ Met Ball เป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในวงการแฟชั่นและบันเทิง งานนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art) ในนครนิวยอร์ก โดยมีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนให้กับ The Costume Institute ซึ่งเป็นหนึ่งในหอศิลป์ภายใต้การดูแลของพิพิธภัณฑ์นี้

ย้อนกลับไปในอดีต MET Gala ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1948 โดย Eleanor Lambert นักประชาสัมพันธ์ด้านแฟชั่นและสาวสังคมชื่อดัง ในยุคเริ่มแรกนั้น เป็นเพียงงานเลี้ยงอาหารค่ำที่มีบัตรเข้างานราคาเพียง 50 ดอลลาร์ 

ต่อมาในปี 1972 เมื่อ Diana Vreeland อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Vogue เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและประธานงาน MET Gala ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ จนกลายเป็นงานสำคัญที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้น

ปี 1995 ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ Anna Wintour บรรณาธิการบริหารของ Vogue ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการงาน เธอยกระดับ MET Gala ให้กลายเป็นเวทีแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ของ Vogue  รวบรวมเหล่าคนดังจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี การเมือง ฯลฯ ในแต่ละปีจะมีการกำหนดธีมที่แตกต่างกันออกไป โดยเธอจะเลือกประธานร่วมงาน (Co-Chairs) เพื่อนำเสนอธีมเหล่านั้น

นอกจากการเป็นงานระดมทุน MET Gala ยังเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของแฟชั่นอีกด้วย เหล่าดีไซเนอร์ บรรณาธิการ และคนดังต่างแต่งกายอย่างสร้างสรรค์เพื่อสื่อสารธีมของงาน ทำให้ภาพบนพรมแดงของพวกเขาเป็นที่จับตามองของสื่อทั่วโลก ภายใต้เวทีอันยิ่งใหญ่นี้ หลายคนเลือกใช้พลังของแฟชั่นเพื่อแสดงจุดยืนทางสังคมและการเมืองด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นคนดังหลายคนใช้โอกาสและความคิดสร้างสรรค์สื่อสารข้อความทางสังคมบนพรมแดงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ ซึ่งสร้างการตระหนักรู้ไปในวงกว้าง

ตัวอย่างเช่น ปี 2019 ภายใต้ธีม “Camp: Notes on Fashion” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม LGBTQ+ ดารานักแสดง Lena Waithe ใส่เสื้อคลุมสีรุ้งพร้อมข้อความ “Black Drag Queens Inventend Camp” เพื่อยกย่องบทบาทของแดร็กควีนผิวดำในประวัติศาสตร์ งานเดียวกันนี้ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง Nikkie de Jager เลือกชุดที่ระลึกถึง Marsha P. Johnson ผู้ริเริ่มการจลาจลสโตนวอลล์เพื่อเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ 

ส่วนในปี 2021 เราได้เห็น Frank Ocean นักร้องชื่อดัง เดินพรมแดงด้วยชุดที่มีสีสันของธงสีรุ้ง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมืองก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกัน ในปี 2021 Alexandria Ocasio-Cortez ส.ส. พรรคเดโมแครต สร้างสีสันด้วยชุดที่มีข้อความ “Tax the Rich” เรียกร้องการปฏิรูประบบภาษี ในขณะที่ Cara Delevingne นางแบบชื่อดัง สื่อสารด้วยเสื้อที่มีสโลแกน “Peg the Patriarchy” เพื่อท้าทายระบบปิตาธิปไตย

กรณีที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือการที่ Rihanna เลือกชุดคล้ายสมเด็จพระสันตะปาปาในคริสต์ศาสนามาใส่ในงานธีม “Heavenly Bodies: Fashion and the Catholic Imagination” ปี 2018 เป็นการตั้งคำถามต่ออิทธิพลของศาสนจักรต่อสังคม

MET Gala ไม่เพียงเป็นงานระดมทุนที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสื่อสารประเด็นสังคมที่ทุกคนต้องการจะพูดถึง การแสดงออกผ่านแฟชั่นที่สร้างสรรค์ของเหล่าคนดังสามารถสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ของงานที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการแฟชั่นอีกต่อไป

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง