คุยกับ ‘นิชตุล Shikak’ ในเดือน Pride Month เมื่อการยอมรับตัวเองสำคัญกว่าการภาคภูมิใจ

Genderation ร่วมกับ สำนักพิมพ์ P.S. ขอพาไปทำความรู้จักผ่านการพูดคุยกับ ‘นิชตุล Shikak’  นักเขียนที่เล่าถึงเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่า Pride Month ของคุณจะเป็นความภูมิใจ หรือเป็นความหวังเล็กๆ ว่าสักวันหนึ่งจะภูมิใจในตัวเองได้ คุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่คู่ควรกับการเป็นตัวของตัวเองเสมอนะ

Q: การเป็นเกย์ยุคก่อนกับยุคนี้แตกต่างกันไหม?

นิชตุล Shikak: ส่วนตัวคิดว่าการเป็นเกย์ในยุคก่อนกับสมัยนี้มีความยากง่ายในการใช้ชีวิตแตกต่างกันมาก ต้องบอกก่อนว่าปีนี้ผมจะอายุ 36 ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนประถม-มัธยมต้น ผมก็รู้ตัวว่าเออ เราชอบผู้ชาย อยากมีความสัมพันธ์ในเชิงความรักและมีความต้องการทางเพศกับผู้ชาย แต่ในสมัยนั้นการตระหนักรู้ทั้งของตัวเองและสังคมก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ผมเติบโตมาด้วยความไม่เข้าใจในตัวเอง เพราะสังคมรอบข้างไม่ว่าจะครอบครัว คนรู้จัก เวลาเจอก็มักถามว่าชอบผู้หญิงแบบไหน มีแฟนยังอะเรา ซึ่งด้วยความไม่รู้นี่แหละ เราเลยคิดว่าผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิงเท่านั้น ก็จะเกิดความขัดแย้งในใจตัวเอง ขนาดที่จำได้ว่าเราเขียนในสมุดโน้ตว่าผมชอบเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้สึกชอบเลย แต่รอบข้าง วาทกรรมสังคมพยายามชี้ทางให้เราไปทางนั้น ตีกรอบให้ผมอยู่ในนั้น ซึ่งก็นับรวมถึงการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย ผมใส่เสื้อสีชมพูไม่ได้ จะเล่นตุ๊กตาก็ไม่ได้อีก

.

มีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ขึ้นใจคือตอน ป.5 ผมไปเที่ยวต่างประเทศกับพ่อ พ่อถามว่าอยากได้ของเล่นอะไรให้หยิบมา พ่อจะซื้อให้ ผมเลยไปหยิบตุ๊กตาแกะหน้าตาน่ารัก เพื่อนพ่อก็พูดต่อหน้าพ่อและผมเลยว่า “เฝ้าระวังลูกคุณไว้นะ เค้าอาจจะเบี่ยงเบนทางเพศ ถ้าเป็นเด็กผู้ชายต้องเลือกหยิบหุ่นยนต์ไปแล้ว” ตอนนั้นผมถึงกับก้มหน้าจิตตกไปเลย

.

การยอมรับรสนิยมทางเพศของตัวเองในสมัยมัธยมต้นก็นับเป็นปัญหา เป็นเรื่องยาก เพราะเรายังไม่มีคำนิยามหลากหลายแบบในปัจจุบัน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารสนิยมทางเพศตัวเองเรียกว่าเกย์ สังคมไทยในตอนนั้นมีเพียงคำว่ากะเทย และตุ๊ด ซึ่งหมายถึงมีเพศสภาพเป็นชายแต่แสดงออกตุ้งติ้งหรือออกสาว แต่ผมไม่ได้เข้าแก็ปนี้ คือไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง และก็ไม่ได้ออกสาว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง ก็จะมีคำถามขึ้นมาในใจบ่อยๆ ว่า แล้วผมคืออะไร เป็นตัวประหลาดเหรอ ไปจนถึงความโดดเดี่ยวปนสงสัยว่ามีใครเป็นแบบผมบ้างไหม แล้วถ้ามี ผมจะไปพบเจอพวกเขาเหล่านั้นได้ที่ไหน จนกลายเป็นความรู้สึกอยากเจอคนที่เป็นเหมือนเรา เพื่อจะได้รับรู้ว่าเรามีเพื่อน ไม่ได้โดดเดี่ยว และไม่ได้เป็นตัวประหลาดนะ

.

จนถึงช่วงมัธยมปลายที่คำว่าเกย์เริ่มเป็นที่รู้จักจากสื่ออย่างภาพยนตร์ต่างประเทศ ตอนนั้นก็จำได้ว่า อ้อ ผมเป็นเกย์นะ เออ ผมได้คำตอบเรื่องรสนิยมทางเพศแล้ว ซึ่งการ come out ก็ยากกว่าในปัจจุบันมาก แค่ประกาศตัวเองบน blog ส่วนตัวในอินเทอร์เน็ตว่าเป็นเกย์ ก็นับเป็นความกล้าหาญที่เรียกได้ว่าไม่มีใครทำกัน แต่ผมก็ทำแหละ เพราะผมอยากเจอคนที่เป็นเหมือนกัน แล้วตอนนั้นก็เริ่มมองหาความรักเชิงชู้สาวแล้ว

.

สิ่งที่ยากมากในตอนนั้นคือ คุณเป็นตัวเองไม่ได้ หมายถึงถ้าคุณจะออกสาวนิดหน่อยกับบางเรื่อง แต่แมนในอีกเรื่อง คนก็จะไม่เข้าใจและไม่มองคุณว่าเป็นเกย์ ไปจนถึงการหาคนรัก สมัยนั้นไม่มีแอปหาคู่ ก็เลยจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวงของเกย์ เพื่อที่จะรับรู้กันว่าคนนี้เป็นเกย์ เช่น การเจาะหูข้างขวา สิ่งนี้บอกโดนนัยว่า การที่คนอื่นรู้ว่าคุณเป็นเกย์ก็เท่ากับการขับไล่คนที่เป็นเกย์แต่ไม่เปิดเผยไปโดยปริยาย ซึ่งนิสัยผมเป็นคนเปิดเผย เลยเลือกจะบอกทุกคนว่า ‘ผมเป็นเกย์’ ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมไม่อาจมีคนรัก หรือถ้าไปรักใครก็ต้องอกหัก 

.

ส่วนตัวผมมองหาความสัมพันธ์มากกว่าเซ็กส์ คือเราอยากเป็นคนรัก แต่อีกคนเขาไม่โอเค เพราะมันเป็นเหมือนการประกาศกับสังคมไปด้วยว่าเป็นเกย์ สิ่งที่ได้เลยกลายเป็นความสัมพันธ์แบบลับๆ ล่อๆ หรือมุ่งเน้นไปที่การมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งก็ไม่ตอบโจทย์ผม แต่ผมก็ยืนหยัดในตัวเองแบบของผมแหละว่า เออ ผมจะเป็นแบบนี้ รักที่ตัวเองเป็นแบบนี้ มองหาความสัมพันธ์คู่รักด้วยสโลแกนส่วนตัวอย่าง “ความรักควรมาก่อนที่อวัยวะเพศจะแข็งตัว” 

.

ปัจจุบันผมมองว่าการหาเพื่อนและคู่รักนั้นง่ายขึ้นมาก ทั้งสังคมที่ตระหนักรู้ มีการออกสื่อที่ทำให้รู้ว่าเออมีกลุ่มคนที่สนับสนุนพวกเรา เรื่องพวกนั้นมีส่วนในการทำให้พวกเรายอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น กล้า come out กันมากขึ้น ประจวบกับมีคอมมูนิตี้และแอปพลิเคชั่นหาคู่ ที่จะพาเราไปเจอคนที่มีรสนิยมทางเพศและมีความต้องการตรงกันได้สะดวกขึ้นด้วย

Q: เหตุการณ์เกี่ยวกับการโดนกีดกันทางเพศที่ติดอยู่ในใจนานที่สุด

นิชตุล Shikak: ผมมีหลายเหตุการณ์นะ แต่ที่ติดอยู่ในหัวนานที่สุดน่าจะเป็นการเลือกไปเรียนรักษาดินแดน (รด.) ตอนที่ฝึกภาคสนามปีหนึ่ง ครูฝึกถามผมด้วยเสียงดุด่าว่าทำไมกลับหลังหันตามจังหวะไม่ได้สักที เป็นผู้ชายหรือเปล่า เพื่อนที่อยู่ข้างๆ กันก็ตอบเชิงล้อเลียนว่าผมไม่ใช่ผู้ชาย ผมเป็นเกย์ พอได้ยินเท่านั้น ครูฝึกก็กลั่นแกล้งผมให้ไปยืนอยู่หน้ากองฝึก ซึ่งก็หมายถึงเพื่อนทั้งชั้นที่เลือกมาเรียน แล้วให้ผมพูดตะโกนซ้ำๆ 5 ครั้งว่า ‘ผมเป็นเกย์’

.

อาจจะไม่ใช่การกีดกันแบบเต็มรูปแบบ แต่การโดนสั่งให้ตะโกนว่า ‘ผมเป็นเกย์’ แล้วผมต้องจำยอมทำ ผมถือว่าเป็นการเหยียดเพศ ดูถูก จริงอยู่ว่าผมอาจจะ come out แล้ว ได้บอกครอบครัว เพื่อน คนรอบตัวรับรู้ว่าผมเป็นเกย์ แต่การต้องไปป่าวประกาศหน้าฝูงชนมันผิดที่ผิดจังหวะเอามากๆ เหมือนพวกเขาเห็นผมเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นตัวประหลาด ซึ่งก็สร้างบาดแผลทางใจให้ผมมาก

.

หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมเลยตัดสินใจไม่เรียนรด.ต่อ เพราะเขาไม่ใช่แค่ไม่ต้อนรับ การกระทำดังกล่าวสำหรับผมคือการหักหามศักดิ์ศรีที่ไม่ใช่แค่การไม่ยอมรับเรื่องรสนิยมทางเพศ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย ผมก็เลือกที่จะรักษาความภาคภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเอง ถ้าที่นี่ไม่ต้อนรับผมก็ไม่เป็นไร ไปตายเอาดาบหน้าจับใบดำใบแดงเอาก็ได้

Q: ความหลากหลายในสังคมไทยทุกวันนี้เพียงพอหรือยัง?

นิชตุล Shikak: ตอบได้เต็มปากเลยว่าเราทำเต็มที่แล้ว พวกเราเก่งมากๆ เลย อยากให้ชมและให้กำลังใจตัวเองกันมากๆ แต่เราก็ยังทำได้อีก และต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนการวิ่งมาราธอน 

.

ในด้านสังคม ก็อยากเห็นคนมองที่คุณค่าความเป็นคน ความสามารถ ไม่เอาเรื่องเพศมากีดกัน ส่วนตัวผมเจอบ่อยมากที่จะได้ยินคำแนะนำตัวที่อีกคนเอาไปบอกเล่าต่อ แบบ “เออ นี่พี่เขาชื่อตุลนะ จะมาทำงานเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และเขาเป็นเกย์” การมีคำกำกับข้างหลังในบริบทนี้ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็น และก็มักจะโดนสังคมตีตราอีก แม้จะไม่ได้รุนแรงเท่ายุคก่อนที่แบบเป็นผู้ชายต้องไม่ใส่เสื้อสีชมพู เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้ ฯลฯ แต่ก็จะมีเรื่องอื่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยมาครอบเราอยู่ดี เช่น งานเขียนเรื่องรองเท้าสนีกเกอร์ ตุลคงทำไม่ได้ คงไม่เหมาะ เพราะตุลเป็นเกย์ คงเขียนแบบกวนๆ หรือเข้าถึงกลุ่มทาเก็ตหลักที่ชอบรองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นผู้ชายแท้ไม่ได้ ตรงนี้มันมีความย้อนแย้งมาก หนึ่ง เป็นเกย์ไม่มีความสามารถในการเขียนเรื่องรองเท้าสนีกเกอร์เลยเหรอ คุณลองให้เขาเขียนก่อนไหม สอง คนที่นิยามตัวเองเป็นเกย์ไม่มีเซ้นส์ความกวนเลยเหรอ เรื่องเซ้นส์เหล่านี้เลือกเพศด้วยเหรอ สาม คนที่ชอบรองเท้าสนีกเกอร์มีแต่ผู้ชายแท้เหรอ แล้วเพศอื่นๆ ไม่ชอบเลยเหรอ ไม่ได้บอกว่าแค่เกย์นะ แต่หมายถึงผู้หญิงและ LGBTQ+ ด้วย

.

ในส่วนตัวตนและปัจเจก ที่อยากให้ไปไกลกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องของ ‘นิยาม’ จริงอยู่ว่า LQBTQ+ แต่ละตัวอักษรก็บ่งบอกเรื่องรสนิยมทางเพศแล้ว แต่ผมอยากให้สังคมเปิดกว้างสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงที่เพศนั้นมีความลื่นไหล มีการเปลี่ยนผ่าน เราไม่ควรเอานิยามว่าเราเป็นเกย์ เป็นไบ เป็นเลสเบี้ยน มายึดติดมากจนเกินไป คือการนิยามตัวเองในปัจจุบันนับเป็นเรื่องดี แต่ก็อยากสร้างการรับรู้ว่าเราลื่นไหลได้ ผมยังเชื่อว่าตอนนี้ผมอาจจะชอบได้แค่ผู้ชาย แต่ในอนาคตผมอาจจะเป็นไบ นั่นคือชอบผู้หญิงได้ด้วย และในอนาคตไกลๆ ผมอาจจะเป็นแพนเซ็กชวลที่ชอบเป็นคนๆ ไป คือเรานิยามตัวเองได้ว่าเป็นอะไร เพื่อให้คนเข้าใจเรา เพื่อมองหาคู่รักตามความต้องการในช่วงเวลานั้น แต่เราก็ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ผลิบานและเติบโตอย่างอิสระด้วยเช่นกัน

.

และก็อยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจทั้งในและนอกสภา สมรสเท่าเทียมผ่านแล้วก็จริง แต่คนในสภาก็จะมีไม่กี่กลุ่มที่จริงจังกับการเรียกร้อง ส่วนที่เหลือไม่ค้านก็เฉย ผมอยากให้คนที่เฉยจริงจังและทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และแอคทีฟมากกว่านี้

.

แล้วถ้ามองรายละเอียดของกฎหมายนี้ มันเท่าเทียมแค่เรื่องการจดทะเบียนสมรส ส่วนเรื่องอัตลักษณ์ คำนำหน้าชื่อ การยอมรับเข้าทำงาน มันยังเป็นเรื่องเบลอๆ อยู่เลย ทั้งที่หลายประเทศก็ก้าวหน้ากว่านี้ไปแล้ว

.

อย่างไพรด์พาเหรดที่ผ่านมามันก็มีฉากหน้าที่ดี นายก นายทุนดูสนใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาแทบไม่เคยใส่ใจเลย จนกระทั่งมันเป็นเทรนด์ที่ใช้หาเงินหาผลประโยชน์ให้รัฐและนายทุนได้ ซึ่งผมก็ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าวันนึงเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในเมนสตรีมหรือแมส คนเพศหลากหลายจะยังมีพื้นที่แบบไหนและยังไง

Q: อยากให้วงการหนังสือเป็นพื้นที่ให้คอมมู LGBTQIA+ ยังไงบ้าง?

นิชตุล Shikak: อยากให้เป็นได้หลายอย่าง ทั้งในแง่ที่ทำให้คนอ่านหนังสือรู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว เรามีเพื่อน มีคนที่คล้ายๆ เราอยู่ เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัย คือหนังสือก็ถือเป็นสื่อหนึ่ง มีศักยภาพที่จะสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศได้ รวมถึงเป็นเครื่องยืนหยัดว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคม ความเป็นคนของพวกเขาไม่ได้แตกต่างผิดเพี้ยนไปจากชายจริงหรือหญิงแท้เลย

.

และก็อยากให้คอมมูนิตี้หนังสือสร้างผลงานที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวอยากเห็นหนังสือที่เล่าเรื่อง LGBTQ+ ในตลาดเยอะขึ้น และอยากเห็นในแง่มุมอื่นที่นอกเหนือจากความรักและเซ็กส์มากขึ้นด้วย ไม่ได้บอกว่าการนำเสนอแค่เรื่องความรักและเซ็กซ์เป็นเรื่องไม่ดีนะ แต่เราอยากทำให้ภาพจำของคอมมูนิตี้มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างตัวผมจะชื่นชมหนังสือ ‘เมษาลาตะวัน’ มากๆ เพราะรู้สึกว่าผู้เขียนเขาเขียนเรื่อง LGBTQ+ ไปพร้อมกับแง่มุมที่น่าสนใจอย่างการเป็นคนนอกของสังคม และต้องการบ้านที่เข้าอกเข้าใจ ซึ่งบ้านก็จะเป็นได้ทั้งสถานที่ปลอดภัย ผู้คนที่ไม่ตัดสิน หรือความรู้สึกอย่างความรักก็ยังได้ ผมคิดว่าการนำเสนอแง่มุมอื่นไปพร้อมกับประเด็น LGBTQ+ จะทำให้คนอ่านเข้าใจความหลากหลายทางเพศได้มากกว่าการเล่าแบบเป็นพอยท์หลักพอยท์เดียวเสียอีก เหมือนเค้าอินกับเนื้อเรื่องและได้รับสารเรื่องความหลากหลายทางเพศไปโดยปริยายเลย

Q: คิดยังไงกับประโยค “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี”

นิชตุล Shikak: ที่ยกมาเป็นประโยคที่ผม come out กับแม่ว่าตัวเองเป็นเกย์ ตอนนั้นผมอายุ 17 ก็คิดว่าคำว่าดีของแม่หมายถึง ‘ดี / ชั่ว’ แต่พอเติบโตขึ้นก็เรียนรู้ว่าคำว่า ‘คนดี’ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความหมายในเชิง ‘ดีงาม’ คำว่าดีมันเป็นไปได้หลากหลายมากๆ เช่น เป็นคนที่เขียนหนังสือดี เป็นคนที่เข้มแข็งดี เป็นคนที่อยากจะเป็นคนดีขึ้นในทุกๆ วัน 

.

เวลาอ่านประโยคท่อนนี้ในหนังสือตัวเองก็จะรู้สึกว่ามันคลีเช่จัง แบบเป็นประโยคที่ใครๆ ก็พูด ได้ยินบ่อยๆ แต่ถ้าเรามองตัวเองเป็นพ่อหรือแม่ ถ้าลูกเรามา come out บอกรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง เราเองก็อาจจะพูดว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” เหมือนกันก็ได้นะ เพราะเราก็มักได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ จากสื่ออย่างหนังหรือละคร จนเหมือนกลายเป็นประโยคที่จะคิดถึงอันดับต้นๆ แบบปิ๊งขึ้นมาเลยเวลาคิดถึงฉากการ come out 

.

ซึ่งเอาจริงๆ ประโยค “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” มันก็ทำร้ายเราเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้อยากเป็นคนดี แต่เราอยากเป็นตุล เป็นลูกของแม่ เราไม่อยากได้คำว่าคนดีมากำกับ แต่พอเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งเรามองย้อนกลับมา ขนาดตัวเราเองก็ยังใช้เวลานานเป็นปีๆ เลยกว่าจะทำความเข้าใจและยอมรับตัวเองได้ กว่าจะ come out ได้ และนี่เป็นคนอื่น ถึงจะเป็นแม่เราก็เถอะ เขาก็คงต้องการเวลาในการทำความเข้าใจและยอมรับเราเหมือนกัน ดังนั้นผมเลยคิดว่าประโยค “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” มันเป็นแค่ ‘จุดเริ่มต้น’ อยากบอกว่าถ้าใครได้ยินประโยคนี้ตอนที่ come out แล้วรู้สึกไม่ดี เป็นแผลในใจ ก็ปล่อยตัวเองให้เสียใจได้ แต่ก็อยากให้ใจเขาใจเรา และให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

Q: ส่วนไหนในตัวตนของนิชตุลที่ภูมิใจที่สุด

นิชตุล Shikak: ผมเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง พอไม่มั่นใจ เราก็จะไม่ภูมิใจไปด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่กล้าบอกว่ามั่นใจได้คือผมเป็นคนจริงใจ ทั้งจริงใจกับตัวเอง จริงใจกับผู้คน และจริงใจในงานเขียน อย่างหนังสือเล่ม ‘(ไทม์ไลน์ที่สูญหาย) เมื่อผมเล่าถึงคุณ’ ผมก็ตั้งใจเขียนด้วยความตั้งมั่นว่าอยากให้ทุกเรื่องในเล่มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วใส่อารมณ์ความรู้สึก มุมมองที่เรามีต่อความสัมพันธ์กับคนคนนั้นเข้าไป ผมคงไม่อาจเขียนหนังสือที่จริงใจได้เท่าเล่มนี้อีกแล้ว เพราะมันได้เปิดเปลือยทุกแง่มุม การกระทำ ความคิด ความรู้สึก การโหยหา การต้องการความรัก ในแบบที่ผมภูมิใจที่ได้เป็นตัวเอง ผ่านความสัมพันธ์กับบุคคลในความทรงจำ 13 คน โดยไม่กลัวการตัดสินจากผู้อ่าน และแน่นอนว่าผมภูมิใจในตัวเองที่ได้เขียน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเครื่องยืนหยัดในเรื่องการยอมรับตัวเองในทุกๆ ด้าน รวมถึงเรื่องเพศอย่างการเป็นเกย์ด้วย

Q: อยากบอกอะไรกับคนที่ยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าภูมิใจในตัวตนของตัวเอง

นิชตุล Shikak: ถ้าคุณยังไม่ภูมิใจในตัวตนของตัวเอง ก็อยากให้ลองมองตัวเองในหลากแง่มุมก่อน พิจารณาดีๆ ว่าเราไม่ภูมิใจในตัวเองด้านไหน ส่วนตัวคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องชอบ ต้องภูมิใจในตัวเองทุกด้าน แต่ต้องมีสักเรื่องที่นึกขึ้นมาว่าเราเป็นแบบนั้นแล้วเรารู้สึกชอบตัวเอง เช่น ด้านที่เราเป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนหวังดีต่อคนอื่น ซึ่งเอาจริงๆ เรื่องเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับเพศเลย แต่เป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น

.

ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผมก็หวังไว้นะว่าทุกคนบนโลกจะโอบรับตัวตนของตัวเองได้ อย่างเรื่องเพศเราไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศด้วยซ้ำ ถ้าเรายอมรับตัวเอง เข้าใจสิ่งที่เราต้องการในความสัมพันธ์ การ come out อาจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยก็ได้ เราแค่ come out ในใจกับตัวเราเองก็พอ เข้าใจตัวเอง โอบกอดตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เติบโตอย่างอิสระ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นความงดงามที่คนคนหนึ่งจะมีได้แล้ว

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง