ความเท่าเทียม ยังคงห่างไกล ในฟุตบอลโลกหญิง

ฟุตบอลโลกหญิง 2023 กำลังจะถึงจุดสิ้นสุดแล้วในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม นี้ โดยคู่ชิงชนะเลิศจะเป็นการพบกันระหว่างประเทศสเปนและ อังกฤษ มีบทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ออกมาเปิดโปงเรื่องราวน่าตกใจของความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกหญิงในครั้งนี้ นักฟุตบอลหญิงหลายคนไม่ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม และความเท่าเทียมระหว่างเพศในโลกฟุตบอลยังคงห่างไกลอีกมาก

บทความนี้แปลจากบทความ Women’s World Cup Shows Equality still has a long way to go เขียนโดย Minky Worden ผู้อำนวยการด้านการริเริ่มสร้างสรรค์ (Global Initiatives) องค์กร Human Rights Watch
https://www.hrw.org/news/2023/07/25/womens-world-cup-shows-equality-still-has-long-way-go

ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ในครั้งนี้สามารถสร้างรายได้จากการถ่ายทอดสดและการจัดกิจกรรมสำหรับแฟนบอลได้เป็นตัวเลขประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักเตะหญิงเลย

การแข่งขันรายการที่ใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับผู้หญิงในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนที่สำคัญว่า ประเทศต่างๆ ผู้หญิง และเด็กสาวหลายๆคน จะต้องต่อสู้กันเพื่อที่จะก้าวเข้ามาอยู่ในสนาม และเมื่อพวกเขาเข้ามาได้แล้ว ก็ยังต้องเจอกับการข่มขู่คุกคาม รายได้ที่ไม่เป็นธรรม และการถูกทำร้ายทางเพศ

ประธานฟีฟ่า จีอานี่ อินฟาติโน่ ที่มีรายได้พื้นฐานรวมถึงโบนัสถึง 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้สัญญาในเดือนมิถุนายนว่าผู้เล่นทุกคนในรายการการแข่งขันนี้จะต้องได้รับค่าจ้าง 30,000 เหรียญ เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาการเบี้ยวค่าจ้างเหมือนในฟุตบอลโลกรอบที่ผ่าน ๆ มา

แต่ในตอนนี้ อินฟาติโน่ กลับคำสัญญานี้เสียแล้ว โดยเขาแถลงข่าวในงานนัดเปิดสนามว่าเงินค่าจ้างของผู้เล่นหญิงที่จะจ่ายให้ขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้น ๆ

นี่เป็นเรื่องน่าตกใจแต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจนักเพราะฟีฟ่าก็ล้มเหลวในการปกป้องผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในโลกฟุตบอลมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ต่างจากการให้ความเท่าเทียมในเงินรางวัลของกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่นเทนนิส

ฟีฟ่าล้มเหลวในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้าง รวมไปถึงเรื่องการสร้างระบบในสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับนักกีฬาให้ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศและอื่น ๆ

มีเงินเหลือมากมาย ที่จะสามารถนำมาคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้เล่นหญิง ฟีฟ่ามีเงินสำรองถึง 4 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะมีเงินถึง 11 ล้านเหรียญ สำหรับฟุตบอลโลกในปี 2026 ฟีฟ่ากำลังเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยการไม่ยกระดับค่าจ้างให้กับนักเตะในฟุตบอลโลก

เงินรางวัลรวมจากฟีฟ่าในฟุตบอลโลกหญิงปี 2019 ที่มีคนดูมากถึง 1.12 พันล้านคนทั่วโลก และทำลายสถิติผู้ชมในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนผู้ชมกว่า 25.4 ล้านคน คือ 30 ล้านเหรียญ ภายหลังจากการกดดันจากทั่วโลก เงินรางวัลรวมได้เพิ่มขึ้นถึง 110 ล้าน แต่ก็ยังคงห่างจากเงินรางวัลของฟุตบอลโลกชายที่มีจำนวนถึง 400 ล้าน ในปี 2018 และ 440 ล้านในปี 2022

ฟีฟ่าให้เงินสนับสนุนทีมชาติเฉลี่ย 1.5 ล้านเหรียญต่อปี เงินจำนวนนี้ควรจะต้องมาเสริมสร้างกีฬาฟุตบอลของผู้หญิง แต่น่าเสียดายที่หลายๆครั้งก็ถูกตักตวงไปโดยสมาคมฟุตบอลของประเทศก่อนที่จะถึงมือผู้เล่นจริง ๆ

ฟีฟ่าในฐานะผู้ให้เงินสนับสนุนหลักสามารถที่จะรับรองให้สมาคมฟุตบอลทุกชาติปฏิบัติต่อนักกีฬาหญิงอย่างเท่าเทียมได้ แต่กลับไม่ทำ นักฟุตบอลหญิงทีมชาติบอกกับ Human Rights Watch ว่างบประมาณจำนวนนี้กลับนำไปสู่การเกิดคอรัปชั่นและการคุกคามทางเพศ

รายงานการศึกษาที่สำคัญโดย FIFPRO สมาพันธ์ของนักฟุตบอลสากล เปิดเผยว่า 29% ของผู้เล่นหญิงที่ตอบการสอบถามกล่าวว่าพวกเธอไม่ได้รับค่าจ้างจากทีมชาติในการแข่งขันฟุตบอลโลกรายการนี้

แม่ของนักฟุตบอลทีมชาติจาไมก้าถึงขนาดต้องทำแคมเปญเรี่ยไรเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงในครั้งนี้ Cheyna Matthews และ Khadiha “Bunny” Shaw สองนักฟุตบอลทีมชาติจาไมก้าโพสต์ข้อความว่าพวกเขา “ผิดหวังเป็นอย่างมากกับสมาคมฟุตบอลจาไมก้า” จาก “การวางแผน การเดินทาง การจัดหาที่พัก สภาพการฝึกซ้อม ค่าตอบแทน การสื่อสาร สารอาหารและทรัพยากร ที่ย่ำแย่”

“เราต้องไปปรากฏตัวกับทีมโดยที่ไม่ได้รับสัญญาค่าจ้างใดๆเลย” นักเตะเขียน

ทีมชาติหญิงไนจีเรียก็ออกมากล่าวโจมตีทางสาธารณะเรื่องการเบี้ยวค่าจ้าง และขู่จะบอยคอตต์ฟุตบอลโลกที่พวกเธอจะได้เล่นเป็นครั้งแรกนี้

ทีมชาติหญิงประเทศแอฟริกาใต้ ได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่นักฟุตบอลทีมชาติชายได้ถึง 10 เท่า และได้นำความโกรธแค้นนี้ออกสู่สาธารณะด้วยการประท้วงสมาคมฟุตบอลประเทศแอฟริกาใต้ในเรื่องของค่าจ้าง การเตรียมการ การฝึกซ้อม นักเตะทั้งทีมถอนตัวจากการฝึกซ้อมร่างกายครั้งสุดท้ายก่อนการแข่งขัน ก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่ม

นักฟุตบอลทีมชาติระดับท็อปกว่า 150 คน ลงชื่อในจดหมายถึงฟีฟ่าเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและเงื่อนไขอื่นๆที่เท่าเทียม

เป็นเรื่องที่ผิดมากที่นักฟุตบอลหญิงไม่สามารถไว้วางใจให้ฟีฟ่าคุ้มครองพวกเขาจากการจ้างงาน แถมยังต้องมาเปิดโปงเรื่องการคอรัปชั่นและการไม่สามารถควบคุมเรื่องสิทธิมนุษชนซึ่งทำให้เกิดการคุกคามผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในโลกฟุตบอล

ออสเตรเลีย เจ้าภาพร่วมในปีนี้ร่วมกับนิวซีแลนด์ นักเตะของทีมชาติออสเตรเลียได้ออกมาพูดในวิดิโอโจมตีถึงการเลือกปฏิบัติและการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“ในขณะที่เงินรางวัลเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นแค่ 25% ของสิ่งที่ผู้ชายได้รับ” Kate Gill อดีตนักเตะดาวยิงสูงสุดและผู้บริหารร่วมกล่าวกับสมาคมสื่อออสเตรเลีย

นักเตะของทีมชาติต้องทำการประท้วงเพื่อเรียกร้องการจ่ายค่าจ้างและเงินรางวัลสำหรับรายการต่างๆเพื่อให้เท่ากับทีมผู้ชาย ทำให้ตั้งแต่ปี 2019 เกิดข้อตกลงเพื่อการันตีความเท่าเทียมในค่าจ้างสำหรับนักเตะทีมชาติทุกคน

ในตอนนี้ มีทีมชาติหญิง 7 ทีมที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในค่าจ้างในแบบของตน แต่ผู้หญฺงกว่า 736 คนใน 32 ทีมที่แข่งกันอยู่ สภาพการทำงานยังคงห่างไกลจากคำว่าเท่าเทียมเมื่อเทียบกับทีมชาติผู้ชาย

ฟีฟ่ามีงบประมาณสำหรับสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายค่าแรงแต่ไม่มีพลังในทางการเมือง แตกต่างจากนักเทนนิสหญิงที่ต่อสู้เพื่อให้ได้รับเงินที่เท่าเทียมในการแข่งขัน US Open ตั้งแต่ 1973 กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ฟุตบอลโลกในครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นการฉายสปอตไลท์ไปที่ความสามารถอันน่าทึ่งของนักกีฬากหญิง แต่เราก็ต้องฉายสปอตไลท์ไปที่ความสำคัญอันเร่งด่วนที่จะหยุดการกระทำของฟีฟ่าที่จะโกงและรังแกผู้เล่นหญิงในรายการการแข่งขันนี้ด้วย

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง