7 นักวิทยาศาสตร์ LGBTQ เปลี่ยนโลก

วิทยาศาสตร์ หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ช่วยให้อารยธรรมมนุษย์ยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้และยังคงเป็นเครื่องมือที่พึ่งพาได้ในการก้าวต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความใคร่รู้กับความทุ่มเทอันน่าประทับใจของบรรดาผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ทุกยุคสมัย เราขอนำเสนอเหล่าบุคคลสำคัญ ผู้มีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์โลก เหล่า LGBT ผู้สร้างหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางแห่งความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ ผู้ส่งต่อแสงสว่างทางปัญญาจากสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบมาสู่พวกเรา เพื่อให้เราได้ส่งต่อมันให้แก่ผู้ที่จะมาถึงในอนาคต

สุขสันต์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติค่ะ

Sir Francis Bacon (1561-1626)

ชายผู้เป็นทั้งปราชญ์ นักกฎหมาย และรัฐบุรุษผู้นี้มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดการให้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) หรือก็คือการจับเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาตั้งสมมติฐาน ก่อนที่จะทำการรวบรวมข้อมูลและตั้งทฤษฎี แนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงวิทยาศาสตร์จนกลายเป็นรากฐานของกระบวนทางวิทยาศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ Bacon จึงได้รับการขนานนามเป็น “บิดาแห่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” 

ชัยชนะทางวิทยาศาสตร์ของเขายิ่งใหญ่มากเสียจนคนไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงที่ว่า เรานั้นมีบรรดา “ผู้ช่วย” และ “คนรับใช้” ชายหน้าตาดีรายล้อมอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งในจดหมายที่เขาส่งถึงแม่และน้องสาวเปิดเผยว่าเขามีความสัมพันธ์กับชายเหล่านี้ยิ่งกว่าเพื่อนร่วมงานหรือนาย-บ่าว กรณีที่โด่งดังที่สุดคือการที่เขาได้แรงบันดาลใจจากขุนนางหนุ่มหน้าตาดี Sir Tobie Matthew ในการเขียนความเรียงอันโด่งดังชื่อ “ว่าด้วยมิตรภาพ” (Of Friendship)

อย่างไรก็ดี หากไม่ได้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเขา หลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ในปัจจุบันอาจจะยังอยู่ในความมืดมิดมาจนถึงทุกวันนี้ 

Sara Josephine Baker (1873-1945)

แพทย์หญิงที่ใคร ๆ ก็เรียกเธอว่า “ดอกเตอร์โจ” ผู้นี้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของกรมอนามัยเด็กแห่งนครนิวยอร์ก แรกเริ่มเธอเข้าโรงเรียนแพทย์เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวหลังจากที่พ่อและพี่ชายจากไปด้วยโรคไทฟอยด์ ผลงานโด่งดังของดอกเตอร์โจคือความพยายามในการลดอัตราการเสียชีวิตของทารก ทั้งการฝึกให้บรรดาแม่ในชุมชนแออัดรู้จักวิธีให้นมและทำความสะอาดลูกอย่างถูกต้อง ไปจนถึงคิดค้นต้นแบบของ “นมผง” เพื่อเป็นอาหารทดแทนให้เด็กในขณะที่แม่ออกไปทำงาน (ซึ่งในขณะนั้นมันคือของเหลวที่ประกอบไปด้วย น้ำแคลเซียมคาร์บอเนต แลคโตส และนมวัว) ประมาณการกันว่าเธอช่วยให้เด็กกว่า 90,000 คนรอดชีวิตมาได้ท่ามกลางความย่ำแย่ของระบบสาธารณสุขในช่วงนั้น

แต่ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอคือการสืบค้นไปเจอพาหะของโรคไทฟอยด์ ต้นตอของการระบาดในช่วงปี 1906 และนำตัวคนไข้มากักกันโรคได้ก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่ ต่อมากระบวนการทำงานนี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็น “เวชศาสตร์ป้องกัน” (Preventive Medicine) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Baker ใช้ชีวิตร่วมกับ Ida Alexa Ross Wiley โดยนิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับผู้หญิง” จวบจบบั้นปลายชีวิต 

Florence Nightingale (1820-1910)

พยาบาลในสงครามไครเมียผู้ได้ผู้ได้รับฉายาว่า “สตรีแห่งดวงประทีป” (The Lady with the Lamp) คนนี้สร้างชื่อจากการลดอัตราผู้เสียชีวิตระหว่างสงครามจากร้อยละ 42 เหลือเพียงร้อยละ 2 ด้วยเครื่องมือทางสถิติที่เรียกว่า แผนภาพรังผึ้ง (Coxcomb Diagram) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บของบรรดาทหารนั้นสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ด้วยการยกระดับการรักษาความสะอาดขจัดอาการติดเชื้อ

นอกจากความสามารถอันโดดเด่นในเรื่องการอ่านสถิติ Nightingale ยังเป็นผู้นำของเหล่าผู้หญิงกลุ่มแรกที่ได้ทำงานในกองทัพ เป็นหัวหอกในการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในปฏิรูประบบสาธารณสุข และวางรากฐานในการพยาบาลจนเป็นระเบียบปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลก 

เธอเคยเขียนบันทึกเอาไว้ว่า “ฉันเคยอาศัยหลับนอนร่วมเตียงกับเคาน์เตสชาวอังกฤษและหญิงดูแลไร่ชาวปรัสเซีย ไม่มีสตรีคนใดสนใจใคร่รู้ในสตรีด้วยกันเท่ากับฉันอีกแล้ว” ส่วนในบันทึกอีกฉบับที่เธอเขียนถึง Marianne Nicholson ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องก็มีใครความว่า “ฉันไม่เคยรักใครเลยสักคน หากจะมีใครที่ฉันรู้สึกแบบนั้นก็คงจะมีเพียงเธอ” 

Alan Turing (1912-1954)

ชื่อของชายผู้ให้กำเนิดคอมพิวเตอร์เครื่องแรกบนโลกผู้นี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ LGBT ผู้มีจุดจบอันน่าเศร้า อย่างไรก็ตามเครื่องถอดรหัสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเขาได้รับการประเมินว่ามันทำให้สงครามจบเร็วขึ้นถึง 2 ปี และช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ได้กว่า 14 ล้านคน ทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง ด้วยความเร็วในการประมวลผลเพียง 20 นาที จากความเป็นไปได้ในการเข้ารหัสนับพันล้าน

นอกจากเครื่องถอดรหัสแล้ว สิ่งที่ Turing ฝากไว้บนโลกใบนี้คือไอเดียตั้งต้นของการสร้างเครื่องคำนวณอันเป็นรากฐานของดิจิตัลคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน และการทดสอบที่มีชื่อว่า Turing Test หรือก็คือการทดสอบว่าคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการคิดเท่ากับมนุษย์หรือไม่ ด้วยการให้คนพิมพ์สนทนากับกลุ่มตัวอย่างที่มีทั้งคนและคอมพิวเตอร์ แล้วดูว่าคนสามารถจับได้หรือไม่ว่าคู่สนทนาเป็นมนุษย์หรือเครื่องจักร การทดสอบนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ทดสอบคอมพิวเตอร์มาอย่างยาวนานจนเป็นดังต้นกำเนิดของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน

แม้ว่าบรรดาเพื่อนร่วมงานจะรู้ดีว่าเขาเป็นเกย์ แต่ Turing ก็ถูกจับกุมในข้อหา “กระทำอนาจาร” ในปี 1952 และถูกตัดสินโทษให้ฉีดฮอร์โมนเพื่อแก้ไข “ความผิดปกติ” จนกระทั่ง 2 ปีต่อมาเขาจึงตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เชื่อกันว่าเขากระทำการโดยกัดแอปเปิลฉีดไซยาไนด์ และแอปเปิลผลนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโลโก้แอปเปิลที่ถูกกัดทิ้งไว้บนผลิตภัณฑ์ของ Apple

Ben Barres (1954-2017)

นักประสาทวิทยาผู้ค้นพบว่าเซลล์เกลียเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่หลากหลายในระบบประสาท จากแต่เดิมที่มีความเข้าใจกันว่ามันทำหน้าที่เป็นเหมือนกาวที่เชื่อสมองเข้าด้วยกันเท่านั้น การค้นพบของเขาปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสมองที่มีอยู่เดิมแทบทั้งหมด 

Barres มีเพศกำเนิดเป็นหญิง และได้รับการปฏิบัติย่างไม่เท่าเทียมชายมาตลอด ครั้งหนึ่งที่เขาเคยแก้โจทย์ปัญหาใหญ่ได้ แต่คนกลับคิดว่าแฟนของเขาเป็นคนตีโจทย์แตก เพราะไม่คิดว่าผู้หญิงจะมีความสามารถมากพอ เขาแปลงเพศตอนอายุ 40 ปี และก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์มาตลอดชีวิตการทำงาน

เขาเป็นทรานส์อย่างเปิดเผยคนแรกที่ถูกเลือกให้เข้าร่วมสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกา (American National Academy of Sciences) ด้วยเกียรติคุณจากการค้นพบทางประสาทวิทยาครั้งยิ่งใหญ่ และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในปี 2017

Sally Ride (1951-2012)

แม้ว่า NASA จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1958 แต่กว่าผู้หญิงจะได้เข้าร่วมโครงการฝึกนักบินอวกาศก็ปาไปถึงปี 1977 เมื่อ NASA ตัดสินใจว่าจะต้องเพิ่มบุคลากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เข้าไปในโครงการอวกาศ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์หนาหูว่าผู้หญิงไม่เหมาะจะออกสู่อวกาศ Ride ยื่นใบสมัครในฐานะนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์

หลังจากที่เธอทุ่มเทอย่างหนักกับการเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภาคพื้นใน CAPCOM และพัฒนาแขนกลสำหรับใช้บนยาน ในที่สุดเธอก็ได้เป็นนักบินอวกาศที่อายุน้อยที่สุด ผู้หญิงอเมริกันคนแรกที่ได้ออกสู่อวกาศในภารกิจปี 1983 การเดินทางไปบนกระสวยอวกาศ STS-7 ของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าเด็กผู้หญิงผู้สนใจในวิทยาศาสตร์เป็นวงกว้าง

จากนั้น Ride ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันอวกาศแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรที่ชื่อว่า Sally Ride Science ซึ่งจัดโครงการวิทยาศาสตร์และอบรมครูเพื่อทำให้ “วิทยาศาสตร์กลับมาดูเจ๋งอีกครั้ง” 

เธอขึ้นชื่อเรื่องความหวงแหนชีวิตส่วนตัวมาเสียจนแทบไม่มีใครรู้ว่าเธอครองรักกับ Tam O’Shaughnessy มาอย่างยาวนานถึง 27 ปี และปัจจุบัน O’Shaughnessy ก็ยังรักษามรดกของ Ride เอาไว้ในฐานะผู้อำนวยการของ Sally Ride Science หลังจากที่นักบินอวกาศหญิงผู้นี้จากไปด้วยมะเร็งตับอ่อน

Nergis Mavalvala (1968-)

ในปี 2015 Mavalvala กับทีมนักดาราศาสตร์ของเธอค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) จากการชนกันของสองหลุมดำ คลื่นของกาลอวกาศที่กระจายไปได้ทั่วเอกภพนี้เคยเป็นเพียงทฤษฎีของ Albert Einstein ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง แน่อนว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของอวกาศ พิสูจน์ว่าทฤษฎีของ Einstein ยังคงใช้ได้ผลในการศึกษาทางดาราศาสตร์ รวมไปถึงสังเกตการณ์สสารมืด (Dark Matter) ได้โดยตรงด้วยปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง

ปัจจุบัน Mavalvala ดำรงตำแหน่งในฐานะคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของ MIT เธอเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์มาโดยตลอด และยืนหยัดสนับสนุนชุมชน LGBT และต่อต้านอคติทางชาติพันธุ์ในวงการวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้เธอยังเป็นเจ้าของรางวัลอัจฉริยบุคคลของ McArthur ปี 2010 และนักวิทยาศาสตร์ LGBTQ ประจำปี 2014  

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง