“Androgynous” มองโลกอย่างเท่าเทียม ผ่านแฟชั่นที่ไม่ระบุเพศ

ปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งและสามารถพบเห็นได้อย่างแพร่หลายกับ “ชายแท้เล็บเจล” “ชายแท้สีพาสเทล” เมื่อใครคนหนึ่งที่มีเพศกำเนิดชายเขาไม่ได้มาทรงเข้ม ๆ แบบดุดันไม่เกรงใจใคร แต่ก็ไม่ได้สุดโต่งแบบทรานส์เจนเดอร์ หรือต้องการแสดงออกว่าเขาสวย เขาเป็นผู้หญิง เราจะพบเห็นเพศชายที่สวมใส่กระโปรงดูไม่มีความเป็นชาย (masculine) และขณะเดียวกันคนที่มีเพศกำเนิดหญิงแต่งตัวทะมัดทะแมงไม่เน้นสัดส่วนของสรีระแบบเดียวกับผู้ชาย หรือแต่งตัวมูทโทนที่ไม่มีกรอบของความเป็นหญิง (feminine) อยู่

แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดูประหลาดพิลึกพิลั่นของคนที่มีจริตฟั่นเฟือน เลอะเลือนด้วยสติแต่อย่างใด แต่มันเป็นไปด้วยความเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบของแฟชั่น ตัวตน รสนิยม เราไม่อาจตีตราด้วยเพศสภาพ รวมถึงตัดสินรสนิยมทางเพศของผู้อื่นได้ แต่สไตล์นี้ก็มีชื่อเรียกอยู่นะ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘Androgynous’ (แอนโดรจีนัส) นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำด้วยกันคือ “andro” (แอนโดร) หมายถึงผู้ชาย + “gyn” (จิน) หมายถึงผู้หญิง รวมกันแล้วหมายถึง “การหลอมรวมระหว่างชายหญิงเข้าไว้ด้วยกัน” อาจเรียกได้ว่าสไตล์เชิงสัญลักษณ์ของการทำลายกรอบเพศทิ้งไป และนอกจากนิยามการแต่งตัวแล้วยังหมายถึงเพศวิถีที่ไม่ต้องการระบุว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชายตามสังคมกำหนด กลายเป็นความลื่นไหลทางเพศไร้ข้อจำกัดบางครั้งจะแทนด้วยคำว่า Intersexuality หรือ Non-Binary นั่นเอง 

‘Androgynous’ (แอนโดรจีนัส) คือการแต่งตัวที่มีความกำกวมไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งจะแต่งต่างจากสไตล์ของ Cross Dress ( ครอสเดรส) ที่แปลความหมายตรงตัว คือ การแต่งกายข้ามเพศที่เป็นเพศกำเนิดของตัวเอง

พอเอ่ยถึงการแต่งกายแบบไม่ระบุเพศแล้ว เราจะคุ้นชินกับคำว่า “Unisex” คำว่า “Uni” หมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันรวมคำคำว่า “Sex” เพศที่รวมกันแล้วในบริบทของสังคม และถูกนำไปพัฒนาใช้อย่างแพร่หลายในทางการตลาด หมายถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แฟชั่นรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ ทุกคนสามารถแต่งตัว หรือใช้ผลิตภัณฑ์นั้นได้อย่างอิสระเสรีโดยไม่แบ่งแยกว่าของชิ้นนี้สำหรับเพศชาย หรือของชิ้นนั้นสำหรับเพศหญิง (นอกจากผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นใช้เฉพาะส่วนอวัยวะเพศ)

ที่มาที่ไป ‘Androgynous’ ไม่ได้เป็นสไตล์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่ความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับมีสินค้าสำหรับทุกเพศมากล้นประดามีเหมือนทุกวันนี้ แต่มันถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1824 จากกลุ่มชุมชนสังคมนิยมชื่อ New Harmony ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ภายในกลุ่มชุมชนนี้เปิดโอกาสให้ชนชั้นแรงงานทั้งผู้หญิง และผู้ชายสามารถสวมใส่กางเกงขายาวได้เพื่อความสะดวกคล่องแคล่ว ซึ่งเรื่องนี้ในยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องแปลกใหม่ และผู้คนยังไม่ได้ยอมรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่าไหร่นัก

แนวคิดนี้อาจส่งอิทธิพลมาถึงปี 1920 ที่มาดมัวแซล “โคโค่ ชาแนล” ตัวมัมระดับตำนานสตรีที่มีหัวคิดริเริ่มสวมกางเกง
สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการผลิตเสื้อผ้าผู้ชายให้กับผู้หญิงที่ก่อนหน้านั้นต้องสวมถุงน่องรัดแต่คอเซ็ทกับกระโปรงยาวอันพะรุงพะรังนั่นแหละ เมื่อแนวคิดนี้เกิดขึ้นมามันก็ถูกแพร่ระบาดออกไปกลายเป็นที่นิยมของมวลชนในสมัยนั้น
พร้อมกับเป็นที่กล่าวขานโจษจันเลื่องลือระบือไปในวงกว้างอย่างเป็นนัยว่า “ผู้หญิงได้ปลดปล่อยจากพันทนาการ ที่ถูกรัดตึงขึงไว้ในความคิดแบบอนุรักษ์นิยมซะที”

ต่อมาจนกระทั่งปี 1966 ยุคทองของการปฏิวัติอุตสหกรรมโลกตะวันตก ดีไซน์เนอร์ตัวท๊อปอย่าง “อีฟ แซง โลรองค์” Yves Saint Laurent’s ก็ได้มีการออกแบบชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงขึ้น โดยมีชื่อชุดที่สุดเก๋ และเท่ในคราวเดียวกัน
ชื่อชุดว่า “Le Smoking” เป็นสูทรูปแบบของผู้ชาย แต่ถูกตัดขึ้นในซิลูเอทของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความสง่าอ่าองค์ ให้สุภาพสตรีใช้สำหรับสวมใส่เข้าสังคม แทนที่จะใส่แต่ชุดราตรียาวสวยพราวเจิดแจ่มด้วยการโชว์สัดส่วนเน้นบั้นท้ายเว้าแหวกแหกเนินนมบ่งบอกถึงวิถีทางเพศ และความเป็นเฟมินิสต์อย่างสุดพลังก็ลดทอนนำมาผสมความเป็นแมสคิวลีนเข้าไปให้ดู Strong และ อีฟแซงโลรองค์ ก็ยังบอกไว้ในบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Woman’s Wear Daily อีกด้วยว่า
“ชุดเลอสโมคกิ้ง Le Smoking นั้นเป็นอะไรที่มีความโมเดิร์นล้ำสมัยมากกว่าชุด ราตรีที่โชว์สัดส่วนและหนักเครื่องด้วยแอสเซสเซอรี่ มันคือการเล่นสนุกระหว่างความคลุมเคลือบางอย่างและ ผมก็มีความต้องการที่จะสร้างสรรค์บางสิ่งขึ้นมา ระหว่าง เพศชาย กับ เพศหญิง ที่มันควรจะมีความ Chic –ความเท่ที่เท่าเทียมกัน” เอาเป็นว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า The Best with New Thing สำหรับผู้หญิงในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ 

เข้าสู่ปี 1968 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนอยากสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริง ๆ และเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักกับคำว่า “Unisex” ปรากฏบนโฆษณาสินค้ารองเท้าในนิตยสาร New York Times ครั้งแรก
ทำให้ผู้คนเริ่มเปิดใจยอมรับแนวคิดเสื้อผ้าแบบไร้เพศ และมีการยอมรับแฟชั่นสไตล์ Unisex กันมากขึ้น อย่างเช่นผู้หญิงสามารถใส่ชุดทักซิโด้ได้ หรือผู้ชายใส่กางเกงทรงสกินนี่รัดรูป มีสีสันและลวดลายฉูดฉาดได้

จนมาถึงปี 1970 ยุคบุปผาชน ‘Androgynous’ แฟชั่นนี้ก็ยังคงซึมซาบยืนยงอยู่ในสไตล์การแต่งตัวของเหล่าเซเลปไม่ว่าจะเป็น Anny Hall, Patti Smith, Marc Bolan หรือแม้แต่ David Bowie คนดังในอดีตเหล่านี้ต่างก็มีส่วนส่งเสริมให้สไตล์แฟชั่น แบบ ‘Androgynous’ ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากขึ้น

พอปี 2000 ต้นๆ ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของวงการฮิปฮอป ทำให้เกิดกระแสการเต้นสไตล์ บีบอย หรือบีเกิร์ล เกิดขึ้น ผู้คนทั่วโลกต่างชอบฟังเพลง และการเต้นหันมาแต่งตัวแนวฮิปฮอปกันมากขึ้น โดยเสื้อผ้าที่ใส่ก็ไม่ได้มีการจำกัดเพศ นักเต้นที่มีหัวใจชอบสิ่งเดียวกันก็สามารถแต่งตัวอินไปกับแฟชั่นได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความ Unisex แทรกซึมกับวิถีชีวิตกับผู้คนมาตั้งแต่ตอนนั้น ได้รับการยอมรับของมุมมองที่เปิดกว้างและพัฒนาต่อเนื่อง

การแพร่หลายในยุคสมัยนี้เราจะเห็นไอคอน ‘Androgynous’ อย่างชัดเจน ตั้งแต่ดารานักแสดงไปจนถึงนางแบบ และศิลปิน เช่น Tilda Swinton, Kristen Stewart นางแบบที่ลุคดูเป็น boyish อย่าง Ruby Rose นางแบบผมสั้นอย่าง Erika Liner คุณพ่อ David Bowie หนุ่มป๊อปสตาร์ Harry Styles เขยิบมาฝั่งเอเชียก็ต้องเป็นศิลปินหนุ่ม Miyavi, G-Dragon ของบ้านเราชัดเจนก็เป็น คุณเขื่อน ภัทรดนัย, เจมส์ ธีรดนย์, ต้นหน, พีพี กฤษฏ์ เป็นต้น 

เมื่อเส้นขอบของการแบ่งระหว่างเพศได้หลอมละลายเข้าด้วยกัน และสังคมโลกเราก็มีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า ได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นจำกัดไว้ให้หยุดอยู่กับที่ การแต่งกายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลทุกคนมีสิทธิที่แสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งทัศนคติที่มีต่อเชื้อชาติ  สีผิว ต้นกำเนิด รวมถึง ความหลากหลายทางเพศ
ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกันที่เราจำเป็นต้องยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ตราบใดที่เราไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น มนุษย์เรานั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ และ แน่นอนว่า เรา “เป็นตัวของตัวเองได้เสมอ”

“Now, something meets Boy
And Something meets Girl
They both look the same
They’re overjoyed in this world Same hair, revolution Unisex, evolution
Tomorrow who’s gonna fuss” 

– เพลง Androgynous ของวง The Replacements อัลบั้ม Let It Be (1984)

อ่านมาถึงตรงนี้สามารถกดฟังเพลงเพื่อความเพลิดเพลินต่อได้ที่ https://youtu.be/E3dFmNolsPA?si=ltRHJcHcEfIw6UDe  

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง