Arts: สำรวจกายใจตัวเองผ่านศิลปะและการจัดดอกไม้ กับศิลปินนอนไบนารี่ “บี ภูมิรัตน์”

พอพูดถึงดอกไม้ ผู้คนมักจะคุ้นชินว่าดอกไม้คือสิ่งจำกัดความว่าเท่ากับ “เพศหญิง” เท่านั้น ในทางเดียวกันการจัดดอกไม้ การครอบครองกรรไกรตัดกิ่ง แจกัน ก็เป็นสิ่งที่ “เพศชาย” ส่วนใหญ่อาจมองว่าช่างดูเป็นสิ่งไม่แมนเอาซะเลย

หรือความจริงแล้วการจัดดอกไม้เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนมากกว่าคำจำกัดความเรื่องเพศ มากกว่าคำนิยามถึง “เพศหญิง” – “เพศชาย” หรือการเหมารวมแปะป้ายว่าสิ่งนี้หญิง สิ่งนี้ชาย สิ่งนี้คือความ feminine – masculine หรือเป็นไปได้ว่า “ดอกไม้ และการจัดดอกไม้” อาจมีความหมายมากกว่าอะไรทั้งหมด

วันนี้ Generation เราเลยพาไปค้นหาคำตอบนี้ ผ่าน 7 คำถามกับคุณบี ภูมิรัตน์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานโคริงกะ : ศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่พึ่งเปิดแสดงนิทรรศการ “แรกเริ่มของความเบิกบานผ่านดอกไม้ : Blooming Beginning” ไปที่ Grow Home-Stay and Space

อีกทั้งทางคุณบี ภูมิรัตน์ ยังเป็น 1 ใน 10 ของศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานโปรเจกต์ Everywhere Gallery  แกลลอรีที่มีแนวคิด Post Museum มองว่าแกลลอรีงานศิลปะ คอนเสิร์ตฮอลล์ พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์มันควรออกไปหาผู้คน ไปอยู่ตามมุมเมือง ในชุมชน กระจายออกไปโน้มหาผู้คน ซึ่งสามารถไปติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/EverywhereGallery/

Instagram: https://www.instagram.com/everywhere_gallery/

TikTok: https://www.tiktok.com/@everywhere.galler

1. Genderation: นอนไบนารี่ ในคำนิยามของพี่บีเป็นแบบไหน หรือกำหนดขอบเขตไว้อย่างไรบ้าง? 

บี ภูมิรัตน์: นอนไบนารี่ของพี่คือคนไม่เอากล่องเพศค่ะ ไม่เอานาย ไม่เอานางสาว วิธีการตัดสินใจในชีวิต เช่น สิ่งที่เรียน สิ่งที่ทำ เสื้อผ้าที่ใส่ ไม่ได้มีความเป็นเพศมารองรับ รวมทั้งไม่ต้องการถูกปฏิบัติราวกับเป็นสาวหรือเป็นนาย อยากถูกมองเห็นในฐานะมนุษย์หนึ่งคน ที่มีความรู้สึก มีความต้องการ และมีชื่อให้เรียกค่ะ

2. Genderation: อะไรคือจุดเริ่มต้นของการสนใจเรื่องการจัดดอกไม้โคริงกะ?

บี ภูมิรัตน์: เพราะว่าพี่บีมีสวนที่ดูแลในระบบเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปรัชญาของมูลนิธิเอ็มโอเอไทย ทำให้ได้รู้ว่า นอกจากการเกษตรที่เชื่อเรื่อง ‘ดินมีชีวิต’ เอ็มโอเอไทยยังมีการสอนเรื่องการจัดดอกไม้โคริงกะ ที่ยึดหลักว่า ‘พืชมีชีวิต’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับใจพี่มากๆ จึงตั้งใจไปเรียนตลอดหลักสูตรจนสำเร็จ และกำลังจะสอบเป็น Instructor ในเดือนกันยายน 2567 นี้ค่ะ


นอกจากจุดเริ่มต้นที่พาให้พี่ไปทำความรู้จักและเรียนรู้ พี่ได้ประโยชน์มากจากการฝึกฝนตนเองผ่านการจัดดอกไม้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพบสภาวะที่เกิดขึ้นของตัวเอง ทำให้รู้ตัวได้ไวขึ้น ยอมรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาได้ง่ายขึ้น ทำให้ใจเย็นลง อดทนได้มากขึ้น จิตใจตื่นตัวมากขึ้น และมีความละเอียดอ่อนต่อสิ่งรอบข้าง

3. Genderation: พอพูดถึงดอกไม้ คนส่วนใหญ่มักจะมองเป็นมวลของ ผู้หญิง และความ feminine มากๆ สำหรับพี่บีเองคิดว่าดอกไม้มีเพศไหม?

บี ภูมิรัตน์ : สำหรับพี่ การพิจารณาและจัดวางดอกไม้ เป็นศิลปะ ซึ่งศิลปะนี้ ทำงานโดยตรงกับสภาวะภายในของมนุษย์ โดยไม่สำคัญว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนที่มีสำนึกทางเพศแบบไหน จริงอยู่ ที่คนส่วนใหญ่อาจเชื่อมโยงตามความเคยชินว่างานที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้เป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น แต่หากลองพิจารณาดูดีๆ จะพบว่าไม่ใช่แบบนั้นเลย 

คนที่ทำงานกับดอกไม้ อาจเป็นคนที่มีคุณสมบัติเรื่องความละเอียดอ่อน ความมีสุนทรียะ มีสายตาที่จับความงามของธรรมชาติได้ไว มีสมาธิในการหาสมดุลของดอกไม้และพืช ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ค่ะ 

ดอกไม้ไม่มีเพศสำหรับพี่ พวกเขามีสีและสรีระตามธรรมชาติ บางดอกดูคล้ายคลิตอริส บางดอกดูคล้ายใบหน้าคน บางดอกมีกลีบดอกนุ่มนวล กลิ่นหอมหวาน บางดอกสีสดใส กลิ่นฉุน และมีหนาม ทุกดอกต่างมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ต่างดำรงอยู่ด้วยความเป็นธรรมชาติแบบนั้นเอง มนุษย์ต่างหากที่ไปชี้ว่าแบบนั้นผู้ชายแบบนี้ผู้หญิง

4. Genderation: ขอหนึ่งประโยค สำหรับการเชิญชวนผู้ที่นิยามตนว่าเป็น “ผู้ชาย” ที่ยึดติดในมายาคติว่าการจัดดอกนั้นช่างดูไม่แมน

บี ภูมิรัตน์: เราไม่ได้จัดดอกไม้เพื่อเสริมสร้างหรือลดทอนลักษณะเฟมินีนหรือมัสคูลีนนะ เราจัดดอกไม้เพื่อจัดใจเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นลองตอบตัวเองว่า เราจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ ‘เรียนรู้’ ผ่านศิลปะการจัดดอกไม้ไหม

5. Genderation: ระหว่างที่จัด ทุกๆ แจกันดอกไม้ ในระหว่างการจัด มีสภาวะอารมณ์แตกต่างกันไหม?

บี ภูมิรัตน์: ต่างกันค่ะ เนื่องจากอารมณ์ของเราเคลื่อนไหวอยู่ตลอดนี่นะ ในระหว่างที่จัดดอกไม้ พี่มักจะรู้สึกสงบ คือรู้สึกว่าเป็นกลางๆ ยอมรับความจริงและคล้อยตามดอกไม้ใบพืช ไม่กังวล และก็มีเหมือนกันที่รู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกเหนื่อย ฮ่า มันเกิดจากหลายสาเหตุนะคะ เช่น บางวันเรามีอารมณ์อื่นติดค้างมา บางวันเรามีความคาดหวังต่อแจกันของเรา ทำให้การจัดไม่เพลิดเพลิน ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเรารู้ตัวเราก็อาจปรับปรุงได้ เอาใหม่ วางสิ่งอื่นเอาไว้ก่อน ตั้งต้นใหม่ บางครั้งก็ทำให้จัดได้ดีขึ้น หรือบางทีจัดจนจบกระบวนการแล้ว ได้แจกันที่ดูสวยๆ มาหนึ่งแจกัน แต่เมื่อเราย้อนกลับมามองเราก็จำได้ว่าขณะนั้นเรารู้สึกอะไร มีอะไรเกิดขึ้นภายในบ้าง ก็เป็นการเรียนรู้ย้อนหลังได้เหมือนกัน

6. Genderation: หากเปรียบเทียบตัวเองเป็นพืชพรรณไม้ดอกในสวนของตัวเอง พี่บิ คิดว่าตัวเองเป็นต้นอะไร

บี ภูมิรัตน์ : พี่ว่าพี่เป็นพืชที่เติบโตง่าย เป็นไม้ยืนต้น มีดอกโทนสีม่วง-น้ำเงิน-ชมพูก็ได้ด้วย พี่เป็นต้นอินทนิล! ต้นอินทนิลอยู่ในดินชุ่มชื้นได้ ทนแล้งได้ เติบโตเงียบเชียบแต่สม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาที่ออกดอกก็อวดสะพรั่งด้วยความภูมิใจ อินทนิลยังมีช่วงพักต้นเพื่อฟื้นคืนชีวิตใหม่เมื่อฤดูกาลมาถึงด้วย

7. Genderation: ช่องทางการติดตามผลงาน / ผลงานที่จัดแสดงๆ เร็วๆ นี้ครับ

บี ภูมิรัตน์  : ตอนนี้มีจัดแสดงภาพถ่ายแจกันดอกไม้โคริงกะเป็นครั้งแรกค่ะ จำนวน 52 ภาพ ที่คัดมาแล้วว่าจะช่วยส่งต่อความสุข ความชื่นใจเบิกบาน รวมทั้งความสงบและความหวังให้แก่ผู้รับชม จัดแสดงที่ Grow Home-Stay and Space ถนนสันคอกช้าง อ.เมือง จ.เชียงราย 

นอกจากนี้ก็มีเฟสบุ๊คเพจที่มีเรื่องราวของการจัดดอกไม้ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้และธรรมชาติ ชื่อเพจ Backyard Blooming ค่ะ

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง