Arts: 10 คำถามกับศิลปินผู้ถ่ายทอดประเด็นเรื่องเพศ (และ) ชายขอบเมือง “Jakkapan Mantapan”

หลังจากได้ทำการเปิดแสดงผลงานนิทรรศการไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 มิ.ย. 2567) Jakkapan Mantapan ศิลปินหน้าใหม่จากจังหวัดพะเยาผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อทำการค้นหาตัวตนและเล่าเรื่องราวการถูกกดทับจากเพศสภาพไปพร้อมกัน

ในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ และประจวบกับเดือนนี้เป็น Pride Month Genderation เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อนำเสนอตัวตน + แนวคิดของศิลปินด้วยการพาไปทำความรู้จักกับ “ต๋อง” จักรพันธ์ มันตาพัน Jakkapan Mantapan เจ้าของผลงานนิทรรศการ STIGMAIZATION ผ่าน 10 คำถามด้วยกัน ซึ่งจะจัดแสดงที่ Grow Home-Stay and Space ถึงวันที่ 10 ก.ค. นี้ 

หากใครอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย หรือบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้าไปเยียมชมผลงานได้นะ

Q: อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ “ต๋อง” เลือกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ชุด STIGMATIZATION ออกมา

Jakkapan: “บาดแผลในอดีตที่ถูกกดทับไว้มานาน ผมเคยถูกเลือกปฏิบัติ ถูก Bully ในรั้วโรงเรียน รวมถึงการถูกคนใช้คำสอนในศาสนาว่าสิ่งที่ผมเป็นนั้นมันบาป ผมจึงอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ประสบพบเจอนี้ออกมาในรูปแบบชุดผลงาน Stigmatization เพื่ออยากให้ผู้ชมได้เห็นและร่วมสัมผัสถึงความรู้สึกที่ว่าการเป็นชาว LGBTQ+ ในชนบทถูกกดทับอย่างไร”

Q: เทคนิคที่มักจะใช้ในงานศิลปะของตัวเอง 

Jakkapan: “ในผลงานศิลปะที่ผ่านของผมนั้นมักจะใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบเป็นส่วนใหญ่ และมักจะใช้สีที่ฉูดฉาด แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเจ็บซ้ำด้วยสีม่วงเขียวที่ชอบลงไปให้งานมีความน่าสนใจ”

Q: ปกติแล้วงาน painting 1 ชิ้นเราใช้เวลาในการสร้างสรรค์กี่วัน / สัปดาห์

Jakkapan: ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นมีความละเอียดยากง่ายแค่ไหนครับ ก่อนอื่นก็ต้องคิด Concept 1-2 วัน / สเก็ต1วัน เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ โดยรวมแล้วใช้เวลา 2 อาทิตย์ขึ้นไปได้ครับ 

Q: แล้วระหว่าง Painting กับ Performance art ถ้าเลือกได้อยากสื่อสารตัวตนผ่านงานศิลปะแบบไหนมากที่สุด

Jakkapan: เลือกเป็น painting เพราะว่าผมใช้มันสร้างสรรค์และสื่อสารได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายเลยก็ว่าได้ครับ ส่วนการ Performance art ผมยังใหม่ในการใช้เพื่อสื่อสารให้คนดูตีความและเข้าใจมันได้ดีพอครับ 

Q: ในฐานะศิลปินที่อยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ เคยถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งเพศไหม?

Jakkapan: “เคยถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยครั้งครับ เพราะว่าผู้ชายสเตรท (Straight) บางคนมักจะกลัวการถูกเหมารวม ถูกหาว่าเป็นเหมือนกับเรา เมื่อต้องสนิทชิดเชื้อกับเราจึงมีระยะห่างอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ ส่วนตัวผมคิดว่าพวกเค้าอาจจะมีทัศนคติต่อ LGBTQ+ ในแง่ที่ว่าเพศอย่างเราต้องถึงเนื้อถึงตัว หรือคิดแต่เรื่อง sex อย่างเดียว เค้าจึงเลือกปฏิบัติกับเราเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยหรือเปล่า อาจเป็นผลพวงจากมายาคติที่ถูกสื่อผลิตออกมาซ้ำๆ และแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด”

Q: ปัญหาของศิลปินในประเทศเราคืออะไร?

Jakkapan: “ปัญหาที่พบเจอมาในฐานะศิลปินชนบทคนหนึ่ง คือเรื่องของพื้นที่ในการแสดงผลงานยังมีน้อยและไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถึงคุณจะวาดสวยแค่ไหน Concept จึ้งแค่ไหน ถ้าไม่มีพื้นที่แสดงผลงาน ไม่มีผู้ชมที่มาดูงาน สื่อไม่ให้ความสำคัญ คุณก็เป็นได้แค่คนที่วาดเป็นเท่านั้นแหล่ะ แต่พื้นที่ในการแสดงผลงานกลับไปกระจุกในเมืองใหญ่ จนศิลปินชนบทอย่างพวกเราต้องกระเสือกกระสนเพื่อเอางานตัวเองไปจัดแสดงที่ไกลๆ” 

Q: นอกจากเรื่องของโอกาสแล้ว คิดว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ส่งผลกระทบอะไรต่อ LGBTQ+ ที่อยู่ในต่างจังหวัดอีกบ้าง

Jakkapan: “การถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อคนข้ามเพศที่ยังตกค้างหลงเหลือในสังคมต่างจังหวัดที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ  สังคมชนบทที่ผมคลุกคลีอาศัยอยู่มักเกิดการล่วงละเมิดไม่เพียงแต่การกระทำ แต่เป็นการล่วงละเมิดด้วยคำพูดด้วย  เพราะยังมีคนที่มีชุดความคิดที่ว่าการเป็น LGBTQ+ ต้องหิวแสง ต้องการเป็นจุดสนใจ ต้องชอบใช้คำพูดที่ล่อแหลมอยู่แล้วเป็นธรรมดาซึ่งมันไม่จริงทั้งหมด เมื่อเราทุกคนมีศักด์ศรีและสิทธิของความเป็นคนเท่ากัน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนบุคคลและไม่เกี่ยวกับเพศเลย” 

Q: วิธีรับมือกับคนที่เลือกวิจารณ์ผลงานเราแรงๆ แต่ไม่สร้างสรรค์

Jakkapan: “ผมอาจจะไม่ตอบโต้เขาด้วยคำพูดที่ใช้อารมณ์  แต่จะพยายามเข้าใจเข้าด้วยเหตุและผล คนเราอาจจะถูกเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน เจอประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน ครั้งหนึ่งผมเคยเจอพวกชายแท้มาวิจารณ์งานแล้วมาพูดประมาณว่า “ผมไม่เคยเจอเลย LGBTQ+ ที่ไม่ถูกยอมรับ อย่ามาพูดหน่อยเลยว่าศาสนาไม่ดีเป็นที่ตัวคุณเองหรือเปล่า” ยอมรับว่าก็รู้สึกโกรธมากๆ เข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติส่วนบุคคล แต่ถ้าเกินขอบเขตของการวิจารณ์ผลงานจนล้ำเส้นเกินไป ก็คงต้องตัดปัญหาด้วยการไม่รับฟัง”

Q: ในนามของเป็นคนพื้นที่จังหวัดพะเยา อยากเห็นจังหวัดนี้เป็นอย่างไรในอนาคต 

Jakkapan: “อยากจะให้พะเยาเป็นเหมือนศูนย์รวมของศิลปิน มีพื้นที่ของการแสดงงานศิลปะเพิ่มขึ้น ศิลปินรุ่นใหม่จะได้เติบโตได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งความฝันไป” 

Q: ในฐานะของศิลปิน LGBTQ+ อยากฝากอะไรถึงคนที่ชื่นชอบงานสร้างสรรค์ แต่ยังไม่กล้าที่จะคัมเอ้าท์ หรือกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองซะที 

Jakkapan: “การเปิดเผยตัวเองมีได้หลายวีธี คุณจะร้อง จะเต้น หรือเขียนนิยายเพื่อบอกเล่าตัวตนก็ได้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยไม่กล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นชาว LGBTQ+ จึงใช้ศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง และในบริบทของชาว LGBTQ+ ไม่สำคัญว่าคุญจะเป็นอะไร แค่คุณภูมิใจในตัวเอง รักตัวเองและรักในสิ่งที่ตัวเองเป็นก็เพียงพอแล้ว”

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง