Florence Nightingale พยาบาล สตรีนักปฏิรูปสังคม ผู้บุกเบิกปรัชญาการพยาบาลสมัยใหม่

วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันพยาบาลสากล โดยสภาการพยาบาลสากล International Council of Nurses (ICN) ซึ่งตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้บุกเบิกปรัชญาการพยาบาลสมัยใหม่ 

รูปภาพจาก :  https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/ab/Florence_Nightingale_%28H_Hering_NPG_x82368%29.jpg

Florence Nightingale  เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี1820 ในครอบครัวชนชั้นฐานะร่ำรวยของอังกฤษ แต่เธอไม่ชอบออกงานสังคม ไม่นิยมกิจกรรมสังสรรค์แบบที่สาวไฮโซในสมัยนั้นส่วนใหญ่นิยมทำกัน แต่สิ่งที่เธอชอบทำมาตั้งแต่เด็กคือการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ยากไร้ และมีอาชีพในฝันคือ “พยาบาล” ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ของเธอไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ และการเป็นพยาบาลก็ไม่ใช่อาชีพสำหรับคนในสังคมชั้นสูง ทั้งสองเพียงต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ชายจากครอบครัวมีตระกูล เสวยสุข แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ Florence Nightingale ปรารถนา 

ในขณะที่เธออายุเพียง 17 ปี  เธอได้ปฏิเสธข้อเสนอการแต่งงานกับชายหนุ่มที่ผู้ใหญ่จัดแจงจัดหามาให้ชื่อ Richard Monckton Milnes แล้วขอไปทำตามความฝันของตัวเองโดยการตัดสินใจเข้าเรียนพยาบาลที่ Lutheran Hospital of Pastor Fliedner in Kaiserwerth ในประเทศเยอรมนี ในปี 1844 

          หลังจากเรียนจบในปี 1850  Florence Nightingale ได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลในมิดเดิลเซ็กซ์ที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่อหิวาตกโรคกำลังระบาดพอดี เธอวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดนี้โดยให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งก็ได้ผลดีมาก จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลง

          หลังจากที่สงครามไครเมีย (Crimean War) เริ่มขึ้นในปี1854 มีทหารอังกฤษกว่าหมื่นคนได้รับบาดเจ็บและอยู่ในโรงพยาบาลทหาร ซึ่งขณะนั้นไม่มีพยาบาลผู้หญิงอยู่เลย Florence Nightingale ได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากทางกองทัพ เธอกับพยาบาลรวม 34 คน จึงรีบออกเดินทางไปยังไครเมีย ซึ่งโรงพยาบาลไครเมีย มีสภาพย่ำแย่สุด ๆ พื้นสกปรก เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล หนูและแมลงวิ่งกันขวักไขว่ ไม่มีอะไรที่ถูกสุขลักษณะเลย น้ำสะอาดก็เริ่มขาดแคลน แถมยังมีการระบาดของไข้ไทฟอยด์และอหิวาตกโรคในหมู่ทหารบาดเจ็บเพิ่มเข้าไปอีก มีคนตายจากโรคร้ายมากขึ้นทุกวัน

          Florence Nightingale เห็นแล้วจึงไม่รอช้า รวบรวมคน รวมทั้งผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก มาร่วมปฏิบัติการคลีนแอนด์เคลียร์ ทำความสะอาดพื้นที่โรงพยาบาลแบบทั่วทุกซอกทุกมุมทันที โรงพยาบาลมีสภาพดีขึ้น คนตายน้อยลง เธอทุ่มเททำงานอย่างมุ่งมั่น แม้ตอนกลางคืนก็ยังถือตะเกียงออกไปเดินสอดส่องและคอยดูแลผู้ป่วย พวกทหารในโรงพยาบาลเรียกเธอว่า “The Lady with the lamp”

          นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้ว Florence Nightingale เธอยังกำหนดระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาลที่ถูกสุขลักษณะและเอื้อต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหาร ห้องซักล้าง ห้องสมุด เธอยังเขียนหนังสือเรื่อง Notes on Matters Affecting the Health, Efficiency and Hospital Administration of the British Army

รูปภาพจาก : https://images.ehive.com/accounts/201880/objects/images/d91bd06406454092940ef309eac61051_l.jpg

  ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการปรับปรุงโรงพยาบาลทหารในไครเมียไว้อย่างละเอียด หนังสือเล่มนี้เป็นต้นแบบ และจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขในโรงพยาบาลทหารของอังกฤษในเวลาต่อมา

รูปภาพจาก : https://assets-maharam-prod.s3.amazonaws.com/images/story_images/large/1181/maharam-stories_web-01.jpg?1588684875

“Nightingale Rose Diagram” เป็นภาพอินโฟกราฟิกที่ไนติงเกลทำขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลสถิติสาเหตุและอัตราการตายของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทหารในไครเมียแบบครบจบในแผ่นเดียว แบบเห็นปุ๊บเข้าใจเลยว่าสาเหตุการตายเกิดจากการจัดการด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่ไม่ดีพอ เมื่อมีการปรับปรุงให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น อัตราการตายของผู้ป่วยก็ลดลง ด้วยความสามารถอันโดดเด่นในด้านนี้ เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของ Royal Statistical Society ของอังกฤษ และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ American Statistical Assosciation

รูปภาพจาก : https://www.florence-nightingale.co.uk/wp-content/uploads/129-FNM-image-Nightingale-School-_DSC9584-copped-scaled-e1583247133519.jpg

 ในปี 1860   Florence Nightingale ก่อตั้ง Nightinggale Training School for Nurses ที่โรงพยาบาล St. Thomas ในลอนดอน ด้วยความที่เธอมีชื่อเสียงโด่งดัง เรียกว่าเป็นไอดอลของผู้หญิงอังกฤษในยุคนั้นก็ว่าได้ การก่อตั้งโรงเรียนฝึกพยาบาลแห่งนี้จึงเป็นเหมือนการปลุกกระแสอาชีพพยาบาลให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น

รูปภาพจาก : https://i0.wp.com/heritagecalling.com/wp-content/uploads/2020/04/BLOG-florence-nightingale-nurses-Sir-Henry-Veney-claydon-house-bucks-medium-c-wellcome-trust.jpg?fit=640%2C535&ssl=1

 Florence Nightingale  ยังคงทำงานด้านการพยาบาลและการปฏิรูปสาธารณสุขจนบั้นปลายของชีวิต เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ปี 1910 ในอายุ 90 ปี

อ้างอิงข้อมูลจาก :  https://www.history.com/topics/womens-history/florence-nightingale-1

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง