เลสเบี้ยนคือใครในมุมมองจากประวัติศาสตร์

เลสเบี้ยน (Lesbian) หมายถึง ผู้หญิงที่มีรสนิยมทางเพศรัก-ชอบ-ดึงดูด ผู้หญิงด้วยกัน คำว่า “เลสเบี้ยน” มาจากชื่อเกาะเลสบอส (Lesbos) ในกรีซ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัปโฟ (Sappho) กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงในสมัยกรีกโบราณ ผลงานของเธอมักสะท้อนถึงความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การจะเข้าใจ “เลสเบี้ยน” ในมิติประวัติศาสตร์นั้น จำเป็นต้องมองย้อนไปยังอดีตอันยาวนาน

จุดเริ่มต้น

ในสมัยโบราณ มีบันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงรักผู้หญิงปรากฏในหลายอารยธรรม เช่น บทกวีเกี่ยวกับความรักระหว่างผู้หญิงในอียิปต์โบราณ แต่ความสัมพันธ์เหล่านี้มักถูกละเลยหรือปกปิดไม่ให้ปรากฏชัดเจนในบันทึกทางประวัติศาสตร์

นอกจาก “เลสเบี้ยน” ที่มาจากเกาะเลสบอสแล้ว ยังมีคำว่า “Sapphic” ที่ใช้เรียกผู้หญิงรักผู้หญิงเช่นกัน (ในปัจจุบัน Sapphic เป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศในกลุ่มผู้หญิงที่รักผู้หญิง (WLW) และยอมรับสเปกตรัมของอัตลักษณ์ที่มีอยู่  ไม่ว่าจะเป็นเลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล, แพนเซ็กชวล, เควียร์  หรือนอนไบนารี่)

โดย Sapphic มาจากชื่อของซัปโฟ (Sappho) กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงจากเกาะเลสบอส บทกวีของเธอแสดงถึงความรักที่อบอุ่น หลงใหล และลุ่มหลงระหว่างผู้หญิงและผู้หญิง เป็นต้นกำเนิดของคำเรียกนี้ ซึ่งต่อมาถูกใช้เป็นคำเรียกแทนผู้หญิงรักผู้หญิงในเชิงกวีนิพนธ์และศิลปะเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ในยุคกลาง ผู้หญิงรักผู้หญิงกลับถูกมองว่าผิดธรรมชาติ เผชิญการกดขี่ ลงโทษ และถูกมองว่าเป็นโรคทางจิต จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีการศึกษาทางเพศศาสตร์ และเกิดคำว่า “เลสเบี้ยน” ขึ้นมาใช้เรียกผู้หญิงรักผู้หญิงในแง่การแพทย์และจิตวิทยา

การต่อสู้เพื่อสิทธิและการยอมรับ

ในศตวรรษที่ 20 มีขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีเกิดขึ้น และผู้หญิงรักผู้หญิงก็เริ่มเปิดเผยตัวตนมากขึ้น พวกเธอต้องเผชิญกับการต่อต้านและอคติจากสังคม และการต่อสู้ของเลสเบี้ยนก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีด้วย มีการจัดตั้งองค์กรและเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม เช่น การประท้วงที่สโตนวอลล์ในปี 1969 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ปัจจุบัน: การเฉลิมฉลองความหลากหลาย

ในปัจจุบัน แม้สังคมจะเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และเลสเบี้ยนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ในหลายสังคมก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำและอคติอยู่ การเป็นเลสเบี้ยนไม่ใช่แค่รสนิยมทางเพศ แต่เป็นตัวตน อัตลักษณ์ และประสบการณ์ชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในสังคมและวัฒนธรรม วัน Lesbian Visibility จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมฉลองตัวตนและสิทธิของพวกเธอ รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเคารพความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การทำความเข้าใจเลสเบี้ยนในมิติประวัติศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เคารพในสิทธิเสรีภาพ และตระหนักถึงความจำเป็นในการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียม เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ยอมรับและให้คุณค่ากับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะมีวิถีทางเพศแบบใด

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง