Inspired People: สู้ไปขำไป ฉบับ Hannah Gadsby

“ไปตายซะเท็ด ทั้งตัวคุณทั้งไอ้ลัทธิคลั่งอัลกอริธึ่มของคุณนั่นแหละ สิ่งที่ฉันทำมามันมีกระดูกสันหลังกว่าคุณเยอะ นี่คือมุกตลกนะ ฉันไม่ได้ข้ามเส้นอะไรเลย เพราะคุณพูดกับคนทั้งโลกเองว่ามันไม่มีจริงหรอก ไอ้เส้นที่ว่านั่น”

นี่คือส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกถึง Ted Sarandos ผู้บริหารสูงสุดของ Netflix เขียนโดย Hannah Gadsby นักแสดงตลกชาวออสเตรเลียผู้เคยคว้ารางวัลมากมายจากการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่แพร่ภาพอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าดัง ผลพวงจากการที่ซาแรนโดสออกมาแก้ต่างให้โชว์ตลกอันอื้อฉาวของ Dave Chapelle ซึ่งแสดงอาการเหยียดคนข้ามเพศอย่างรุนแรงจนบานปลายเป็นการประท้วงใหญ่โต 

เราคงไม่อาจทำความเข้าใจความเกรี้ยวกราดในจดหมายฉบับดังกล่าวได้ หากไม่ทำความเข้าใจเสียก่อนว่าฮันนาห์ แกดส์บี เป็นใคร และอะไรทำให้เธอถูกลากออกมาร่วมวงในเหตุการณ์สุดเละเทะครั้งนั้น

ฮันนาห์ แกดส์บี เกิดในปี 1978 ที่เมืองเล็ก ๆ บนชายฝั่งแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เธอเริ่มอาชีพนักแสดงตลกหลังจากชนะรอบสุดท้ายในการประกวดหานักแสดงหน้าใหม่ Raw Comedy เมื่อปี 2006  ด้วยเหตุที่เกิดและโตในเมืองเล็ก ๆ ซึ่งค่อนข้างอนุรักษ์นิยม การทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศอันหลากหลายจึงยากเย็นในระดับสาหัส “กว่าฉันจะรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ ฉันก็เกลียดกลัวพวกคนรักเพศเดียวกันไปซะแล้ว มันไม่ได้เหมือนเราสับสวิตช์ปิดสิ่งนี้ไปเฉย ๆ ได้หรอกนะ สิ่งที่ตามมาจากนั้นคือเราจะเกลียดตัวเองไปด้วย พอเด็กสักคนหนึ่งมันจมอยู่ในความอับอายแบบนั้น ไอ้เด็กคนนั้นมันก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาการมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้เลย” แกดส์บีอธิบายเรื่องนี้ไว้ในส่วนหนึ่งของโชว์ Nanette หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเธอ (แน่นอนว่าโชว์นี้สามารถรับชมได้ทาง Netflix) 

ปัญหาใหญ่อีกประการคือเธอไม่ได้รู้ตัวเลยว่าตัวเองอยู่ในภาวะออทิสซึมสเปกตรัมจนกระทั่งมาตรวจพบเมื่ออายุล่วงถึงวัย 40 เพราะนั่นหมายถึงว่าชิ้นส่วนปริศนาที่ใช้อธิบายความขาดพร่องบางประการที่เธอพบมาตลอดนั้นซุกตัวอยู่ในความมืดโดยไม่มีใครตระหนักถึงมาตลอดเวลา “ตอนที่ฉันเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็บอกว่า ‘เออ มันก็เข้าเค้านะ แม่รู้มาตลอดว่ามีหลายอย่างเลยที่เกิดขึ้นในหัวแก แต่แม่เข้าถึงมันไม่ได้เลย เหมือแกเป็นกระป๋องถั่วอบ แต่ที่เปิดกระป๋องของแม่ดันเปิดมันออกมาไม่ได้น่ะ’ เป็นการเปรียบเปรยที่เจ๋งดี โดยเฉพาะเมื่อฉันเองก็รู้ว่าแม่ไม่ชอบถั่วอบด้วยน่ะนะ”

ทั้งหมดนี้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้กับความเร่าร้อนใน Nanette (2017) แกดส์บีเปลี่ยนการแสดงครั้งนั้นให้กลายเป็นเวทีปราศรับว่าด้วยเรื่องความรุนแรงอันเกิดจากความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นต่อพิการ คนข้ามเพศ คนรักเพศเดียวกัน ผู้หญิง หรือแม้กระทั่งคนอ้วน ความเกรี้ยวกราดของเธอบนเวทีนั้นชวนให้ผู้ชมสบตากับความจริงอันดำมืดตรง ๆ โดยปราศจากอารมณ์ขันมาเป็นเครื่องกำบัง และเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่าตราบใดที่ทั้งสังคมไม่ร่วมกันยุติ ผู้เคราะห์ร้ายของภัยความรุนแรงจากอคติการเลือกปฏิบัติก็จะยังคงเพิ่มขึ้น จนมาถึงตัวเราในสักวันหนึ่ง ไม่ว่าความแตกต่างที่เรามีต่อผู้กระทำจะเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม

โชว์ Nanette ได้รับรางวัลประดับเกียรติยศมากมาย ทั้งรางวัลบทและโชว์ไรตี้ยอดเยี่ยมจาก Primetime Emmy Award รางวัล Peabody Award ส่วนโชว์ถัดมาที่ชื่อ Douglas (2019) ก็ทำให้แกดส์บีได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Tasmania นอกจากนี้เธอยังได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองในชื่อ Ten Step to Nanette: A Memoir Situation ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2022 หลังจากที่ถูกเอ่ยชื่อเพื่อเป็นข้อแก้ต่างอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีพิพาทระหว่างชุมชนคนข้ามเพศกับ Netflix โดยซาแรนดอสเพียงหนึ่งปี (ซาแรนดอสอ้างว่าความเห็นของชาเพลล์ก็เป็นเพียงหนึ่งในความคิดอัน “หลากหลาย” ไม่ต่างจากการที่ Netflix เองก็มีโชว์ของแกดส์บีเช่นกัน)

“เดฟได้เงิน 20 ล้ายดอลลาร์เป็นค่าทำใจรับแรงปะทะจากคนแค่บางส่วนของโลก คุณไม่ได้จ่ายฉันมากพอจะให้มารับความเกลียดชังบนโลกจริงที่คุณไม่ใส่ใจจะฟังเลยแม้แต่นิดเดียวเลยโว้ย *วยเหอะ”

ความกล้าชนในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ทางแพลตฟอร์มต้องรอมชอมกับแกดส์บีและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยการสนับสนุนให้เธอจัดโชว์ตลกเควียร์ที่มีชื่อว่า Gender Agender ขึ้นมาในปี 2024

แน่นอนว่ามันอาจเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว

แต่การได้เริ่มก้าวเล็ก ๆ ก็นับว่าดีกว่าการไม่เริ่มทำอะไรเลยอยู่มากนัก

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง