ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) กับมุมมองในเรื่องเพศ: อำนาจทับซ้อนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ

ลัทธิมาร์กซ์ เป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นโดยนักปรัชญาคนสำคัญอย่างคาร์ล มาร์กซ์และฟรีดริช เองเกลส์ เป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง ชนชั้น แรงงาน และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

หากอธิบายทั้งหมดก็คงต้องใช้เวลายาวนานมาก เพราะมาร์กซ์เขียนหนังสือไว้เยอะและซับซ้อนมากเกี่ยวกับทฤษฎีดังกล่าว อีกทั้งยังมีคนไปตีความต่อยอดอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาพิจารณาว่าทฤษฎีนี้ถูกตีความ ถึงเรื่องอื่น ๆ ในสังคมโดยเฉพาะมุมมองเรื่องเพศอย่างไร ในที่นี้ เราจะมาสำรวจว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์ช่วยสร้างกรอบความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศและความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร

ทำความเข้าใจลัทธิมาร์กซ์

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจทฤษฎีมาร์กซ์คร่าว ๆ ก่อน ใจความหลักของมาร์กซอยู่ที่ความสัมพันธ์และพลวัตของการต่อสู้ทางชนชั้น ตามแนวคิดของมาร์กซ์ สังคมแบ่งออกเป็นสองชนชั้นหลักโดยพื้นฐาน – ชนชั้นกรรมาชีพ (ชนชั้นแรงงาน) ที่ขายแรงงานของตนเพื่อหาเลี้ยงชีพ และชนชั้นกระฎุมพี (ชนชั้นนายทุน) ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและขูดรีดแรงงานจากชนชั้นกรรมาชีพเพื่อกำไรสูงที่สุด ความสัมพันธ์นี้ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกันโดยเนื้อแท้ โดยชนชั้นกรรมาชีพจะถูกกดขี่ภายใต้อำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน

ลัทธิมาร์กซ์ ในมุมมองเรื่องเพศ

แม้ว่าทฤษฎีมาร์กซ์จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของปรัชญาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่นักวิชาการด้านสตรีนิยมหลายคนก็ได้ทำการสำรวจว่าทฤษฎีการแบ่งชนชั้นของมาร์กซ์สามารถนำไปใช้กับความเข้าใจในเรื่องเพศได้อย่างไร จนเกิดมาเป็น ‘สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์’ พวกเขาตีความว่าระบบทุนนิยมและการปกครองแบบปิตาธิปไตยเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันและส่งเสริมกำลังซึ่งกันและกัน สตีนิยมมาร์กซิสต์ยืนยันว่าการกดขี่สตรีไม่ใช่เพราะแค่เรื่องเพศเรื่องเดียวเท่านั้น แต่มันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศและชนชั้นที่ทับซ้อนอยู่ในระบบทุนนิยมด้วย

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือของเองเกลส์ เรื่อง “The Origin of the Family, Private Property, and the State” เขาเสนอว่าพัฒนาการของทรัพย์สินส่วนบุคคลนำไปสู่การสร้างโครงสร้างครอบครัวเดี่ยวแบบดั้งเดิม ซึ่งออกแบบให้มีการส่งต่อทรัพย์สินผ่านเชื้อสายที่เป็นเพศชาย และนี่เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ปิตาธิปไตยและทุนนิยม

นักสตรีนิยมมาร์กซิสต์จะมุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างระบอบปิตาธิปไตยกับทุนนิยม โดยพวกเขาบอกว่าแรงงานเพศหญิงที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่ทำงานบ้าน เช่นการทำอาหาร เลี้ยงลูก ฯลฯ เป็นส่วนสำคัญของระบบทุนนิยม แรงงานนี้ถูกเรียกว่า “แรงงานสืบพันธุ์” เพราะถือว่ามีความจำเป็นสำหรับการสืบพันธุ์ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความสนใจ และถูกประเมินค่าต่ำเกินไป ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ในขณะเดียวกัน บทบาทของสตรีในแรงงานที่ได้รับค่าจ้างยังสะท้อนถึงอำนาจที่ทับซ้อนของระบบทุนนิยมและการปกครองแบบปิตาธิปไตย ในอดีตผู้หญิงมักถูกให้ไปทำงานที่มีค่าตอบแทนต่ำ ซึ่งมักเรียกกันว่างาน ‘ปกชมพู’ เช่น งานพยาบาล งานสอน และงานด้านสังคมสงเคราะห์ การลดคุณค่าของบทบาทเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่ของค่าจ้างและการยอมรับทางสังคม คืออำนาจที่ทับซ้อนกันของระบบทุนนิยมและการปกครองแบบปิตาธิปไตย

อำนาจทับซ้อนในสตรีนิยมมาร์กซิสต์

มุมมองที่โดดเด่นในสตรีนิยมลัทธิมาร์กซิสต์คือแนวคิดเรื่องอำนาจทับซ้อน (Intersection) ซึ่งมองว่าการกดขี่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแค่เรื่องชนชั้นและเพศเท่านั้น มันยังมีปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมายเช่น เชื้อชาติ เพศวิถี สัญชาติ สีผิว ฯลฯ มีความสัมพันธ์กัน และมันสร้างโครงสร้างที่ซับซ้อนในการกดขี่ครอบงำ

ในบริบทของเพศ สตรีนิยมมาร์กซิสต์ที่มีแนวคิดเรื่องอำนาจทับซ้อน ตระหนักดีว่าผู้หญิงทุกคนไม่ได้ประสบกับการถูกกดขี่ในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ความท้าทายและประสบการณ์ของหญิงชนชั้นแรงงานผิวดำแตกต่างอย่างชัดเจนจากหญิงชนชั้นนายทุนผิวขาว ดังนั้น การปลดปล่อยสตรีตามมุมมองนี้จึงไม่ใช่แค่การทำลายระบบปิตาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดการกับระบบทุนนิยม การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันด้วย

ทฤษฎีเรื่องอำนาจทับซ้อนของลัทธิมาร์กซ์ในเรื่องเพศเป็นเลนส์ ที่ช่วยให้เราเข้าใจความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างเป็นระบบได้ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ให้เหตุผลว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเพศไม่ใช่ปัญหาเดี่ยว ๆ แต่เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับการกดขี่ทางสังคมและเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย มุมมองนี้จะช่วยให้เรามีแนวทางที่กว้างและเป็นองค์รวมมากขึ้นในการจัดการและแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง