“ผู้หญิงกับรอยสัก” แฟชั่นที่มีข้อตำหนิ หรือเป็นเพียง “อคติ” ของมนุษย์?

ใครบางคนอาจมองว่า “รอยสัก” คือศิลปะ คือการแสดงออกตัวตนเสมือนการแต่งตัว
ใครบางคนอาจมองว่า “รอยสัก” คือความงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด
ใครบางคนอาจมองว่า “รอยสัก” คือ สัญญะ ของการขบถต่อจารีตการเป็นผู้หญิงที่ดี
และ ใครบางคนอาจมองว่า “รอยสัก” คือ ความสกปรกที่สังคมไม่ยอมรับ

แต่สำหรับฉันแล้ว “รอยสัก” มันก็คือ “แฟชั่น” ที่พอมาปรากฏอยู่บนเนื้อตัวร่างการของ “ผู้หญิง” แล้ว ไม่ได้เป็นความแปลกใหม่ราวกับผุดเกิดมาเมื่อวานนี้ เพราะมีที่มาที่ไปมาอย่างช้านาน เมื่อนักโบราณคดีสันนิฐานว่ารอยสักกับผู้หญิงนั้นพบว่ามีมาอย่างยาวนานกว่า 8,000 ปีก่อนคริสตกาลมาแล้ว เริ่มจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบบนรูปปั้นดินเผาที่มีรอยสักเรียกว่า Venus of Nubia รวมถึงหลักฐานที่ขุดพบจากหลุมฝังศพโบราณของอียิปต์  ถูกค้นพบในวัฒนธรรมชาวกรีกโบราณ ชาวเอสกิโม ชาวอาฟริกัน ชาวยิว ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน รวมถึงชาวเอเชียฝั่งโลกตะวันออก 

อีกทั้งมีการค้นพบว่าผู้หญิงชาวอียิปต์นิยมการสักบนหน้าท้องด้วยความเชื่อว่าการสักนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือจะก่อให้เกิดการตั้งครรถ์ได้ ขณะชนเผ่าเมารีผู้หญิงจะนิยมสักที่ปากและคางเพื่อแสดงออกถึงความเป็นชนเผ่า และสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสร้างแรงดึงดูดในการหาคู่ 

การสักจึงเป็นเรื่องปกติของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีจุดมุ่งหมายของการสักที่แตกต่างกันไปของแต่ละบริบทของสังคม บางสังคมทำเป็นประเพณี บ้างก็เป็นการสักเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การมูเตลู สักกับเครื่องลางของขลัง เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ การป้องกันไสยศาสตร์ บางสังคมสักเพื่อความสวยงาม ฟังค์ชันของเครื่องประดับแฟชั่น ความชอบในเชิงสุนทรียภาพ บ่งบอกสถานะทางสังคม 

จากนั้นกลับกลายเป็นว่ารอยสักเริ่มมีชื่อเสียงในเชิงลบเมื่อผู้ชายกลุ่มอาชญากร นักโทษในสมัยนั้นมักเต็มไปด้วยรอยสัก ถูกเหมารวมดึงไปพูดถึงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสูง มีผลต่อค่านิยมในสมัยนั้นว่าการมีรอยสักคือสิ่งแปลกประหลาด  เป็นสิ่งไม่ดี และผู้หญิงเริ่มถูกกำหนดด้วยค่านิยมของสังคมว่าต้องขาวสะอาดอยู่ในจารีตถูกต้องดีงาม
การมีรอยสักถูกมองว่าเป็นโสเภณีคนในซ่อง บ้างก็ถูกจัดไปในกลุ่มหมอผี แม่มด

แน่นอนว่าความเชื่อในสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกรอบของ “ผู้หญิงที่ดี” ไม่พ้นการถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อปลดแอก แหกค่านิยมที่กำเนิดขึ้นโดยผู้ชายที่ต้องการควบคุมทุกองศา เมื่อหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1920 ในโลกตะวันตะวันตกกระแสการสักของผู้หญิง กลายเป็นความป๊อบ ได้รับความนิยมพร้อมกับกระแส Feminist อันคุกรุ่น ด้วยการเรียกร้องถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในมิติต่าง ๆ ในสังคม การสักกับผู้หญิงดูกลายเป็นความธรรมดาสามัญเป็นสิ่งเดียวกัน
รวมทั้งการมีพื้นที่การสักที่ในก่อนหน้านั้นเดิมทีเคยถูกให้ค่าว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายเพียงอย่างเดียว พัฒนาไปถึงการเกิดขึ้นสตูดิโอสักที่สร้างขึ้นโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ 

ในปี 1960 –  อีกหนึ่งไอคอนที่ผู้คนยุคนั้นคลั่งใคล้บูชาคือ Janis Lyn Joplin นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ร้องเพลงในแนวร็อก, โซล และบลูส์ เธอถือเป็นหนึ่งในร็อกสตาร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคนั้น เป็นที่รู้จักจากการมีเสียงเมซโซ-โซปราโนอันทรงพลังและการแสดงบนเวทีได้อย่างน่าตื่นเต้น พร้อมกับเป็นเจ้าของรอยสักดอกไม้ที่ข้อมือสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและการล่วงละเมิดสำหรับผู้หญิง กับรอยสักรูปมงกุฎ สัญลักษณ์ของความรักตนเองและความเข้มแข็ง ส่งอิทธิพลให้ผู้หญิงในสมัยนั้นจำนวนมากเริ่มมาสักตามกันเป็นทิวแถว

มุมมองเรื่องการสักภายในยุคนั้นแน่นอนว่าไม่ได้เป็นความสวยงามเท่านั้นแต่มันคือสัญลักษณ์ของการเรียกร้องว่าร่างกายของผู้หญิงไม่ได้เป็นสมบัติอันถูกกดขี่ด้วยกฏกรอบของคริสต์จักร ตลอดจนความไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ

การสักสำหรับผู้หญิงนอกจากจะเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ยังมีมิติของสัญลักษณ์การต่อต้าน หรือความเป็นกบฏด้วย การสักของผู้หญิงถือว่าเป็นการใช้อำนาจในการนิยามตัวเอง บางส่วนก็เป็นการต่อสู้ขัดขืนในสังคมชายเป็นใหญ่ 

แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันนึกไปถึงสไตล์ของคุณป้า วิเวียน เวสต์วูด ดีไซน์เนอร์ผู้นำของความก๋ากั่นขบถโลกขึ้นมา ว่าด้วยเรื่องราวของ การกบฏ ฉีกกฎ การยึดติดกับระบบสังคมชนชั้นในอังกฤษ ผ่านแฟชั่นแนวพังค์ ที่ได้แผดเสียงร๊อค ดังระงมในยุค 70 แล้วก็มันคงเป็นเวลาเดียวกันที่หญิงสาวผมลอนต้องการปลดเปลื้องตัวตนเดิม ๆ ออกจากโลกวิถีที่ผู้หญิงจำต้องขดตัวตน ไม่ต่างกับร่างกายที่อยู่ในการรัดของชุดคอร์เซ็ต Crosets ด้วยการไถผมเกรียน เขียนขอบตาดำ สวมใส่อาภรณ์ขาดๆ และทำให้ดูเกรี้ยวกราดขึ้นด้วยการปักหมุดลงไป รวมทั้งการ เจาะ-สักลาย จะว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การแต่งตัว ไม่ใช่แค่แฟชั่นแรงๆ เพียงเท่านั้น แต่นั่นมันคือการนำสังคมก้าวเดินออกจากการครอบงำคร่ำครึของระบอบที่ผู้หญิงต้องถูกจองจำ–การกดขี่ของชนชั้น รวมทั้งความกดดันในตัวเอง แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานความสร้างสรรค์ ที่พร้อมประจันหน้าท้าทายต่อกรอบเดิม ๆ โดยไม่แคร์เสียงก่นด่าใด ๆ ทั้งนั้น เมื่อสิ่งที่ทำคือความกล้าและมันเป็นคีย์แมสเซสที่บอกว่า “นั่นแหละคือสิ่งที่ฉันนั้นต้องการ แล้วยังจะต้องแคร์อะไรอีกคะ”

จากยุคพังค์อันแสบสันของวิเวียน แล้วเหลียวมองดูสังคมไทยทุกวันนี้ แม้จะรู้ๆ กันอยู่แก่ใจว่านี่มันคือโลกอิสระ แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง “รอยสัก” ที่เมื่อมันมาอยู่บนเรือนร่างของ “ผู้หญิง” ทัศนคติของคนเราจะยังคงอิสระด้วยหรือไม่? และดูเหมือนว่าในบางองค์กร บางกลุ่มคนยังมีความคิด ความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีรอยสักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดแผกและแตกต่างจากผู้หญิงในนิยามเก่าที่พวกเขาเชื่อว่าควรถูกยัดไว้ในกรอบความสวยงามจรรโลงโลกไว้อย่างสิ้นเชิง 

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีเพศแล้ว ก็มักจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่โลกจับตามองมากว่าผู้ชาย เพศหญิงจึงถูกสั่งสอนมาว่าจะทำอะไรก็ต้องระวังเนื้อระวังตัว ถูกสั่งสอนมาว่าต้องมีจริต กริยา มารยาทที่ดูสุภาพเรียบร้อย อ่อนช้อย ประหนึ่งว่าเป็นผ้าไหมที่ถูกพับไว้ในตู้ไม้กฤษณาหอม แล้วถ้าทำอะไรที่ดูไม่งดไม่งามก็อาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นสตรีไม่รักดีเป็นชะนีผู้ด้อยคุณค่าทันที

– จริงอยู่มายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงยังคงครอบงำสังคมทุกวันนี้สะท้อนผ่านสื่อ บทละครอันถูกผลิตซ้ำว่าเป็นผู้หญิงต้องดูเป็นนางเอก ต้องสวย ต้องหุ่นดีผิวขาว ต้องไว้ผมยาว ต้องแบ็วใส  ต้องมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง ห้ามเก่งเกินผู้ชายเดี๋ยวหาสามีไม่ได้ เดี๋ยวดูไม่มีค่า เดี๋ยวสังคมไม่ยอมรับ และปรากฏว่าผู้หญิงที่บนเรือนร่างมีรอยสักดูเป็นความด่างพร้อย ถูกสังคม จัดสรรไว้อีกเกรดหนึ่ง ถูกมองไปเป็นผู้หญิงอีกแบบหนึ่งทันที

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าจะมองว่า “รอยสัก” คือตัวปัญหาก็ไม่ใช่ และ “ผู้หญิงที่มีรอยสัก” จำเป็นต้องเป็น bad girl ก็ไม่ถูก ในเมื่อไม่มีตรรกะใดๆสามารถบ่งชี้ได้เลยว่า คนที่ “ไม่มีรอยสัก” และ “เจาะ” เลยคือเป็นคนที่สันดานดี ถูกไหม ? – ผู้ชายที่มีรอยสักอาจไม่ได้ก่ออาชญากรรม ผู้หญิงที่มีรอยสักก็อาจไม่ใช่โสเภณี หรือ เป็นกุลสตรีร่าน ๆ คนนึงที่ชอบไปแย่งสามีใครก็ได้ –แล้วอะไร คือ “การตัดสิน” ว่าคนที่มีรอยสักคือกลุ่มคนที่รักใคร่การวิวาททุบตี อะไรคือ “การตัดสิน” ว่าคนที่มีรอยสักคือความเสื่อมทรามของสังคม 

เพราะฉะนั้น “รอยสัก” จึงไม่ใช่ “เครื่องพิพากษา” เช่นกันกับการใช้ทัศนคติส่วนตัวเข้าไปตัดสินต่างหากคือคนกำลังทำร้ายผู้อื่นอยู่  ฉันคิดว่าการจะบอกว่าใครเป็น คนดี หรือว่า สาระเลว อาจต้อง เข้าไปดูที่ “ความคิด” – “การกระทำ” และการกระทำก็เป็นอะไรที่มีมิติดีเทลซับซ้อนมากมาย ยากเกินไปหากเราจะตัดสินคนเพียงเพราะมีรอยสักบนร่างกาย
สุดท้ายแล้วหากเราลองมองโลกแบบกลางๆ ด้วยสายตาที่สนุกสนาน เราก็อาจจะมองว่า “รอยสัก” มันก็เป็นการแสดงออกถึงความชื่นชอบส่วนปัจเจกบุคคล ผู้หญิง เพศอื่นๆ  ก็คือสิ่งมีชีวิตที่เท่าเทียมกับ ผู้ชาย และ “รอยสัก” มันก็คือ “แฟชั่น” อย่างนึงนั่นแหละ

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง