งานวิจัยชี้ ผู้ชายครองตำแหน่งสูงในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แม้ผู้หญิงเป็นแรงงานส่วนใหญ่

ถ้าพูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘เพดานกระจก’ (glass ceiling หมายถึงอุปสรรคที่มองไม่เห็นซึ่งขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในองค์กร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายครองตลาด) ที่ผู้หญิงก้าวข้ามได้ยาก

และมีอีกคำที่อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก คือ ‘บันไดเลื่อนกระจก’ glass escalator เป็นคำที่ Christine Williams นักสังคมวิทยาบัญญัติขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้ชายในอาชีพที่ผู้หญิงอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ชายมักจะได้เลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงได้เร็วและง่ายกว่าผู้หญิง

คำนี้เป็นการเล่นคำกับ “เพดานกระจก” โดยเปรียบเหมือนว่าแทนที่ผู้ชายจะชนเพดานกระจกเหมือนผู้หญิง พวกเขากลับได้ “นั่งบันไดเลื่อน” วิ่งทะยานขึ้นไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นเพศกลุ่มน้อยในสายอาชีพนั้น ๆ ก็ตาม

เคยสังเกตไหมว่า แม้แต่ในอาชีพที่สตรีเพศเป็นเสียงส่วนใหญ่ในองค์กร แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดกลับเป็นผู้ชาย ทั้งนั้น ปรากฏในหลากหลายอาชีพ เช่น พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ บรรณารักษ์ และครูระดับประถมศึกษา 

ในปี 2021 งานวิจัยหนึ่งพบว่า พยาบาลชายซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 10% ของกำลังพยาบาลทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กลับครองตำแหน่งผู้นำด้านการพยาบาลระดับสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่ง!! เรียกได้ว่าเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าบันไดเลื่อนกระจกนี้มีอยู่จริง แม้ในองค์กรที่ผู้หญิงดูเหมือนจะเป็นคนกุมอำนาจ

แล้วทำไมความได้เปรียบของผู้ชายจึงยังคงอยู่…. ภาพเหมารวมทางเพศที่ฝังรากลึก อคติแบบไม่ตั้งใจ กระบวนการคัดสรรที่เอื้อต่อผู้ชาย คนมักมองว่าผู้ชายมีสมรรถนะสูงกว่าและเหมาะเป็นผู้นำ แม้งานวิจัยมากมายจะชี้ว่าผู้หญิงมีทักษะด้านการเป็นผู้นำเหนือกว่าก็ตาม ข้อสรุปก็คือ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชายหนุ่มมักจะถูกโปรโมทก่อน แม้แต่ในองค์กรที่ผู้หญิงมีความสามารถเป็นกอบเป็นกำ

แล้วบันไดเลื่อนกระจกนี้มีอยู่ในทุกภาคส่วนหรือเปล่า…. Candid องค์กรด้านข้อมูลองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเรื่องเพศสภาพของแรงงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่าล้านชุด ทำให้เป็นชุดข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเภทนี้

ผลการวิเคราะห์พบว่า 2 ใน 3 ของแรงงานเป็นผู้หญิง แต่พอขยับขึ้นไปที่ระดับผู้นำ ทั้งตำแหน่ง CEO กรรมการ กลับพบว่าสัดส่วนของผู้ชายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งองค์กรใหญ่ยิ่งมีโอกาสที่ผู้ชายจะเป็นผู้นำสูงสุด 

ในองค์กรขนาดใหญ่ (มีงบประมาณสูงกว่า $25 ล้าน) ผู้ชายมักเป็นกรรมการถึง 56% และยังมีรายได้มากกว่าผู้หญิงในตำแหน่งเดียวกันกว่า 27%

แถมเมื่อพิจารณาเรื่องเชื้อชาติด้วยแล้ว งานวิจัยกลับพบว่าสิทธิประโยชน์จากบันไดเลื่อนกระจกนี้ส่วนใหญ่ตกเป็นของผู้ชายผิวขาว ในขณะที่พยาบาลชายผิวดำถูกเลือกปฏิบัติ ถูกผลักออกจากกลุ่มเพื่อน หรือพลาดโอกาสได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งทำให้เห็นปัญหาการแบ่งแยกที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

แล้วถ้าเราอยากจะก้าวออกจากบันไดเลื่อนกระจกที่ไม่เป็นธรรมนี้ เราควรทำอย่างไรกันดี เรามาลองเริ่มต้นกันที่สิ่งเหล่านี้ 

  • ตรวจสอบคำโฆษณาและกระบวนการสรรหาที่อาจมีอคติทางเพศ
  • ทำข้อมูลการจ่ายเงินเดือนให้โปร่งใส ลดช่องว่างการจ่ายเงินระหว่างเพศ 
  • มีแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในอาชีพอย่างชัดเจน ลดโอกาสที่ผู้ชายจะได้รับการโปรโมทก่อนเพราะบันไดเลื่อนกระจก
  • คุยกับลูกน้องเรื่องเป้าหมายในอาชีพ อย่าตัดสินใจแทนพวกเขาว่าอยากหรือไม่อยากเลื่อนขั้น 
  • สนับสนุนและมอบโอกาสท้าทายให้กับผู้หญิง เพื่อช่วยให้พวกเธอก้าวหน้าในอาชีพได้

ความเหลื่อมล้ำทางเพศในองค์กรเป็นเรื่องที่ห้ามมองข้าม เพราะแม้แต่ในองค์กรที่ผู้หญิงครองจำนวนส่วนใหญ่ อภิสิทธิ์ของผู้ชายที่มองไม่เห็นก็อาจทำให้พวกเขาไต่เต้าไปสู่ระดับบนได้อย่างก้าวกระโดด การทำความเข้าใจและหยุดอคติที่ไม่ตั้งใจเหล่านี้คือโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เร็วขึ้น องค์กรของคุณล่ะ พร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงนี้ไหม?

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก More Women Work in Nonprofits. So Why Do Men End Up Leading Them? โดย Hannah Lennett จาก Harvard Business Review

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง