24 หนังสือ เปิดรับความหลากหลายทางเพศ

9 สิงหาคม #วันคนรักหนังสือ หรือ National Book Lovers Day ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองความรักในการอ่านและการเขียนหนังสือ การแลกเปลี่ยนหนังสือกับผู้อื่น และการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจให้กับคนรอบข้าง

Genderation เราเลยมาแชร์ Checklist หนังสือ 24 เล่มว่าด้วยการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ และเป็นแรงบันดาลใจพร้อมกับสร้างความเข้าใจต่อชุมชน LGBTQ+ มีเล่มไหนบ้างไปตามดูกัน

1. Sex Appear เพศสะพรั่ง เขียนโดย: ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

หนังสือความเรียงสอดแทรกเรื่องเพศศึกษาแบบใหม่ แบบสับ เป็นหนังสือประมาณ 200 หน้าที่สร้างความเพลิดเพลินเจริญใจ การหยิบประเด็นเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ ฉันเธอ เรื่องเพศ และ เพศสัมพันธ์ รวมไปถึงค่านิยมต่างๆ ผ่านการเปรียบเปรยเปรียบเทียบที่ผู้เขียนได้หยิบขึ้นมาจากสถานการณ์จริงแล้วเล่าผ่านหลากหลายตัวละครนามสมมติ การคลุกเคล้าเข้ากันแล้วคลี่คลายจากหลายมิติกับ 17 บทที่ปริมาณไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไปสำหรับอ่านเพื่ออรรถรส อ่านเพื่อสร้างความเข้าใจกันใหม่ อ่านเพื่อเพิ่มพูนเปิดกว้างทัศนคติโดยมี “เรื่องเพศ” ครอบคลุมอยู่

2. Carol (The Price of Salt) เขียนโดย: Patricia Highsmith

แปลโดย : วิลาส วศินสังวร
เรื่องราวของความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของผู้หญิงโดดเดี่ยวสองคน เทรีส เป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า แครอล เป็นแม่บ้านที่กำลังจะหย่าร้างกับสามี เพียงแค่สบตากัน ทั้งสองพบแรงดึงดูดบางอย่างที่ไม่อาจอธิบายได้ เป็นความสัมพันธ์อึงอลด้วยความเปลี่ยวเหงา

3. Rainbowlogy ศาสตร์สีรุ้ง เขียนโดย: สิรภพ แก้วมาก

ผลงานหนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากกว่าที่เคย ผ่านแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเพศ จิตวิทยา การสื่อสาร ผสานเรื่องราวชีวิตแสนก๋ากั่นของ “คุณเตเต้ – สิรภพ แก้วมาก” นักสื่อสารผู้เป็นครีเอทีฟและโปรดิวเซอร์หลายรายการดัง เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยใจกลางเมือง

4. Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ เขียนโดย: กวีวัธน์

ผลงานรวมเรื่องสั้นจาก สำนัก​พิมพ์​ P.S. Publishing

เรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกจำกัดไว้เพียงกรอบ ชาย – หญิง กำเนิดขึ้นจากความพยายามรีดเค้น เผชิญหน้า ต่อสู้ และกอบเก็บชิ้นส่วนมาตัดต่อเป็นเรื่องราว ส่วนผสมของความรัก ความทรงจำ ความเจ็บปวด และงดงาม 13 เรื่องรักใคร่ ที่มีใครเป็นส่วนเกินอยู่เสมอ

5. Binge เขียนโดย: Tyler Oakley

นักเขียน, นักแสดง ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนบน YouTube “Binge”  ตีพิมพ์ในปี 2015 และเป็นการรวบรวมเรื่องราวส่วนตัว, ประสบการณ์, และความคิดของ Oakley  ในสิ่งที่เขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน . หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวที่หลากหลาย ตั้งแต่ช่วงเวลาที่น่าอาย เรื่องตลกๆ ไปจนถึงเรื่องราวความเจ็บปวด เช่น การต่อสู้กับปัญหาด้านการกิน  การยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ และการต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต‌

6. Beyond the Gender Binary (แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน)

เขียนโดย: Alok Vaid-Menon แปลโดย : มุกดาภา ยั่งยืนภราดร
หนังสือ non-fiction ที่สำรวจและอธิบายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและความหลากหลายทางเพศ เปิดโปงและตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ ‘ชายจริงหญิงแท้’ หรือที่เรียกว่า เพศทวิลักษณ์ อันเป็นสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เกิดจนตาย ตัวเลือกที่ว่าไม่เป็น ‘ชาย’ ก็ต้องเป็น ‘หญิง’ แท้จริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่แฝงฝังมากับโครงสร้างอำนาจในสังคม หนังสือเล่มนี้บอกเล่าข้อเท็จจริงประการนี้ผ่านเรื่องเล่าของปัจเจกที่ชวนให้ยิ้มออกมา ก่อนจะพาผู้อ่านมาสัมผัสกับความเป็นจริงในสังคมที่ทำให้รู้สึกหดหู่จนไม่อาจทนเพิกเฉย 

7. Honey Girl เขียนโดย: Morgan Rogers

เล่มนี้เป็นนิยาย LGBTQ+ แนวโรแมนติกชวนอบอุ่นหัวใจที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของหญิงสาวสองคน โดยที่คนหนึ่งได้ถูกเติมเต็มด้วยความรักหลังจากต้องใช้ชีวิตกับความสำเร็จอันว่างเปล่ามาตลอดยี่สิบกว่าปี ไปลุ้นเอาใจช่วยให้ความรักครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี พร้อมๆ กับเรียนรู้เกี่ยวกับความรัก และความสุขไปพร้อม ๆ กัน

8. ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด‘ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เขียนโดย: Iris Bohnet  แปลโดย: ฐณฐ จินดานนท์

เพราะความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้หากเราออกแบบให้ทุกคนเท่าเทียม โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Iris Bohnet พาเราไปดูตั้งแต่อคติทางเพศที่อยู่ในทุกการออกแบบ ทุกวิธีการในที่ทำงาน ที่กีดกันความเท่าเทียมทางเพศ

9. ไทม์ไลน์ที่สูญหาย เมื่อผมเล่าถึงคุณ เขียนโดย: นิชตุล Shikak

เป็นผลงานรวมเรื่องสั้น LGBTQ+ สำรวจความสัมพันธ์และประสบการณ์ของผู้คนที่มีความไม่สมบูรณ์แบบและอ่อนไหว หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่สูญหาย พลัดหลง หรือกลับมาอีกครั้ง โดยไม่ใช่เพียงเพื่อเยียวยาบาดแผล แต่เพื่อให้ได้ทบทวนและเข้าใจความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

10. Autoboyography เขียนโดย: Christina Lauren

นวนิยาย coming of age ที่มีพล็อตน่าสนใจ เพราะจับรวมทุกจารีตเข้ามาตั้งคำถาม ทั้งความสัมพันธ์ของครู–นักเรียน ความสัมพันธ์ของคู่รักเกย์ภายใต้ครอบครัวที่เคร่งศาสนาซึ่งกีดกัน LGBTQ

11. Love, Simon: อีเมลลับฉบับไซมอน  เขียนโดย: Becky Albertalli

แปลโดย: นลิล
เรื่องราวของวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับความกลัวในการเปิดเผยตัวตนในสังคม

อีเมลลับฉบับไซมอน นี้อาจจะไม่ใช่นิยายวายแบบที่เราคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ แต่ไทเซย์บุ๊กส์ตัดสินใจเลือกมาเพราะเชื่อว่าเมื่อได้ลองเปิดอ่านนั้นไซมอนจะนำพานักอ่านไปสู่ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ไซมอนจะเชื่อเชิญให้ลองเปิดใจกับความแตกต่างทั้งกับเพศ สีผิว วัฒนธรรม ศาสนา รวมถึงชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองถึง “บรรทัดฐาน” ของความรักไปด้วยกัน

12. Red, White and Royal blue เขียนโดย: Casey McQuiston 

หนังสือแนวโรแมนติกคอมเมดี้เป็นนิยาย LGBTQ+ ที่มีเซ็ตติ้งสุดอลังการงานสร้าง ที่โด่งดังจนได้รางวัล Goodreads Choice Awards ปี 2019 หมวดนิยายโรมานซ์ไปครอง โดยเรื่องราวเล่าถึงความสัมพันธ์ของ อเล็กซ์ แคลร์มอนต์-ดิแอซ ลูกชายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับเจ้าชายเฮนรี่แห่งอังกฤษ

13. The Song of Achilles เขียนโดย: Madeline Miller 

ความหลากหลายทางเพศไม่ได้เพิ่งมาถูกกล่าวถึงในยุคสมัยแห่งปัจจุบัน เพียงแต่มีหนังสือไม่กี่เล่มที่ได้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ The Song of Achilles คือหนังสือนิยายที่ท้าทายทุกความเชื่อ ด้วยการหยิบยกเอาเรื่องราวของเทพปกรนัมกรีกจากบทประพันธ์ขึ้นหิ้งอย่าง ‘มหากาพย์อีเลียด’ ของ โฮเมอร์ มารังสรรค์เป็นนิยายที่ว่าด้วยความรักระหว่างบุรุษสองคนนั่นก็คือ อคิลลีส ผู้พิชิตกรุงทรอย กับ พาโทรคลุส เจ้าชายผู้ตกอับ

14. Queer Korea เขียนโดย: 다양한 저자

หนังสือที่สำรวจและวิเคราะห์วรรณกรรมและวัฒนธรรม LGBTQ+ ในเกาหลี โดยมีการรวบรวมบทความและงานวิจัยจากนักเขียนหลายคน หนังสือเล่มนี้นำเสนอประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ การวิเคราะห์วรรณกรรม, ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และ การศึกษาเชิงสังคม

15. เลส Less เขียนโดย: Andrew Sean Greer แปลโดย: ศรรวริศา 

ผลงานการแปลจากสำนักพิมพ์กำมะหยี่

เรื่องช้ำรักของ Arthur Less นักเขียนชายวัย 49 ที่พยายามหลีกหนีงานแต่งงานของแฟนเก่าซึ่งเป็นชายหนุ่มที่คบหากันมากว่า 9 ปี แต่ได้เลิกรากันไป นอกจากเรื่องการบอกเล่ามุมมอง วัฒนธรรมต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ของเพศที่สังคมคาดว่าว่าหากเรา come out แล้ว เราต้องมีอัตลักษณ์ นิสัย หรือท่าทางตามที่สังคมคิดเท่านั้นจริงหรือ? 

16. เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? (Kinou Nani Tabeta?) เขียนโดย: Fumi Yoshinaga

มังงะที่เล่าเรื่องความรักของคู่รักชาย-ชายในสังคมญี่ปุ่นที่ต้องปกปิดตัวตน

การ์ตูนชุดนี้นำเสนอภาพชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ โดยแต่ละตอนจะมีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมอาหารและความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ชิโร่เป็นทนายความที่มีบุคลิกเคร่งขรึม ขณะที่เคนจิเป็นช่างทำผมที่มีอารมณ์ดีและมีชีวิตชีวา

17. Julian is a Mermaid เขียนโดย: Jessica Love

เรื่องราวของเด็กชายที่ต้องการแต่งตัวเป็นนางเงือกและได้รับการสนับสนุนจากย่าของเขา หนังสือเล่มนี้ส่งเสริมการยอมรับตัวตนและความคิดสร้างสรรค์

18. The Family Book เขียนโดย: Todd Parr

หนังสือที่อธิบายถึงความหลากหลายของครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงครอบครัวที่มีผู้ปกครองเพศเดียวกัน

19. I Am Jazz เขียนโดย: Jessica Herthel และ Jazz Jennings

เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงที่รู้ว่าเธอเป็นหญิงแม้ว่าจะเกิดมาในร่างชาย หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องเพศสภาพ

20. And Tango Makes Three เขียนโดย: Justin Richardson และ Peter Parnell

เรื่องราวของนกเพนกวินคู่หนึ่งที่เลี้ยงลูกนกด้วยกัน หนังสือที่สื่อถึงความรักในรูปแบบที่หลากหลาย

21. Prince & Knight เขียนโดย: Daniel Haack

นวนิยายภาพที่เล่าเรื่องราวของเจ้าชายและอัศวินที่ตกหลุมรักกัน หนังสือที่ส่งเสริมความรักที่ไม่มีข้อจำกัดทางเพศ

22. Symptoms of Being Human เขียนโดย: Jeff Garvin

นวนิยายเยาวชนที่สำรวจประเด็นทางเพศผ่านตัวละครที่มีความลื่นไหลทางเพศ

เล่าเรื่องราวของ Riley Cavanaugh วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ (gender fluid) บางวันรู้สึกเป็นชาย บางวันรู้สึกเป็นหญิง แต่ Riley ยังไม่ได้เปิดเผยตัวตนต่อสังคม

23. Stone Butch Blues เขียนโดย: Leslie Feinberg

เรื่องราวของเลสเบี้ยนในยุค 1970s ที่ต้องต่อสู้กับการกดดันทางสังคม

ที่สำคัญนวนิยายนี้เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ Jess Goldberg ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบ “stone butch” ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ในมหานครนิวยอร์ก Jess ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเป็นคนที่ไม่เข้ากับมาตรฐานทางเพศที่สังคมกำหนด รวมถึงการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

24. แว่นตากรอบทอง (Gli occhiali d’oro) เขียนโดย: Giorgio Bassani

แปลโดย: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

นวนิยายเล่มบาง ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยโดย สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันเปี่ยมล้นนี้พาเราไปรู้จักกับชายหนุ่มสองคน ที่คนหนึ่งเป็นชาวยิว และอีกคนเป็น Homosexual ซึ่งทั้งสองคนอยู่ในอิตาลี ในยุคสมัยที่มุสโสลินี ต่อต้านยิวอย่างรุนแรง และการรักร่วมเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง