Arts: moodytangerine กับนิยามของเพศหญิง ศิลปะ และความช่างแXร่ง กับ Beauty Standard

ในโอกาสเดือนมีนาคม เดือนแห่ง Women’s History Month วันนี้ Genderation เราจะพาไปทำความรู้จักกับศิลปิน นักวาดหญิงท่านหนึ่ง เจ้าของผลงานภาพปกหนังสือวรรณกรรม เรื่องสั้น ของสำนักพิมพ์ที่ยืนหนึ่งด้านความสัมพันธ์ P.S. Publishing ที่เหล่านักอ่านน่าจะคุ้นเคยผลงานของเธอ หรือผ่านตามาบ้าง เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักศิลปิน และ บรรณาธิการคนนี้ผู้อยู่เบื้องหลังดูแลผลงานของพีเอส มาแล้วหลายเล่มพร้อมกันในโพสต์นี้กันเถอะ

1. moodytangerine นั้นเริ่มต้นมายังไงครับ

เราชอบวาดรูปอยู่แล้ว แต่ช่วงที่เริ่มเสพติดจริงจังมันเป็นช่วงเดียวกับที่ป่วยเป็นซึมเศร้า ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการวาดรูปเป็นหนทางเดียวที่เราจะดีลกับตัวเองได้ การขุดเอาความเศร้าทั้งหมดในตัวออกมาทำอะไรบางอย่างที่เป็นรูปธรรมมันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ว่างเปล่าเกินไป แล้วเราก็อยากมีใครสักคนให้แชร์ความรู้สึกลึกๆ ด้วยโดยไม่ต้องใช้คำพูด ถึงเปิดไอจีชื่อ moodytangerine เพราะชอบสีส้ม แล้วก็เป็นคน moody แค่นั้นเลย

2. ในงานของคุณ moodytangerine มีการสื่อถึงเรื่องเพศ + ผู้หญิง + ความเฟมินิสต์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก อยากทราบว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานครับ

มันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวน่ะแหละ คือเราวาดรูปเพื่อระบายอารมณ์ และหนึ่งในสาเหตุของอารมณ์เศร้ามันมาจากประสบการณ์ที่เราโดน beauty standard กดมา เราโตมากับการโดนคนในครอบครัวด่าเรื่องรูปร่างหน้าตา การรักตัวเองกลายเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ แล้วมันก็ไปโยงกับการกดทับเพศหญิงที่แฝงมากับการยัดเยียดมาตรฐานความงาม คำพูดที่เราเคยได้รับและยังคงได้รับอยู่คือ “ผู้ชายอ้วนได้ไม่เป็นไร แต่ผู้หญิงอ้วนมันน่าเกลียด” “อ้วนแบบนี้ไม่มีผู้ชายที่ไหนเอา ไม่มีใครเขารักเขาชอบหรอก”

รอยเซลลูไลท์ ผิวแตกลาย ขนรักแร้ ขนน้องสาว นมยาน อ้วน ทุกอย่างที่สังคมบอกว่าผู้หญิงเป็นแล้วน่าเกลียดหรืออนาจาร จริง ๆ มันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เราวาดอะไรพวกนี้เพื่อบอกตัวเองและคนอื่น ๆ ว่าเราอยากอยู่ในโลกที่ไม่มีใครตั้งคำถามหรือแปะป้ายว่ารูปลักษณ์ภายนอกของใครน่าเกลียด โลกที่ผู้หญิงทุกคนโนบราโชว์จุกโชว์นมยาน ๆ ได้ ใส่สายเดี่ยวแล้วไม่ต้องกลัวคนเห็นขนรักแร้ ใส่เอวลอยแล้วมั่นใจกับพุงป่อง ๆ โลกที่ไม่มีใครต้องมานั่งคิดว่าควรแต่งตัวยังไงถึงจะพรางหุ่นได้ โลกที่ไม่มีรูปร่างแบบไหนถูกยกมาใช้เป็นมาตรฐานหรือตีกรอบเรื่องความสวยงามเลย

3. เพศหญิง ในนิยามของ moodytangerine เป็นแบบไหนครับ

ส่วนตัวคือเราคิดว่าความเป็นเพศหญิงมันไม่ได้มีนิยามตายตัวขนาดนั้น ถ้าใครบอกว่าตัวเองเป็นเพศหญิงโดยไม่ได้มีเจตนาไม่ดี จงใจกวนตีน หรือมาจากความ ignorant ระดับร้ายแรง เราก็คิดว่าเขาเป็นเพศหญิงนะ คือทุกคนมีเรื่องราวและตัวตนต่างกัน ผู้หญิง 1 คน = ผู้หญิง 1 แบบ 100 คน = 100 แบบ ดังนั้นเราคิดว่าเพศหญิงคือความหลากหลายที่โดนบางอย่างบีบบังคับให้เหลือแค่ไม่กี่ประเภท ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว คือกลุ่มคนที่มีพลังอยู่ในตัวไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแข็งแกร่งหรือเปราะบาง ทำอะไรหรือไม่ทำ พูดอะไรหรือไม่พูด แล้วก็เป็นกลุ่มคนที่สวยงามในแบบของตัวเอง แต่ไอ้คำว่า “ทุกคนสวยในแบบของตัวเอง” มันดันถูกครอบงำด้วยมาตรฐานความงามกับชายเป็นใหญ่ มันกลายเป็นแค่อุดมคติโลกสวย ทั้งที่ควรจะเป็นมายเซ็ตเบสิกด้วยซ้ำ

4. เทคนิคการวาด และการใช้สีในผลงานเป็นแบบไหนครับ 

เอาจริง ๆ ถ้าพูดถึงเทคนิคในแง่วิธีการ ก็คือเราไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลย ไม่ได้ตอบเอาเท่นะ แต่เราแค่ละเลงไปตามอารมณ์จริง ๆ เราไม่มีความรู้ว่าวิธีของเรามันถูกต้องตามหลักการอะไรไหม (ถ้ามันมีหลักการที่จำเป็นต้องนึกถึงจริง ๆ น่ะนะ) เราใช้สีเยอะ ๆ สด ๆ แม้แต่กับรูปที่เศร้า ๆ เพราะชอบส่วนตัว รู้สึกว่ามันสวย และอีกอย่างก็คือเรารู้สึกว่ามันเติมเต็มความจืดชืดของตัวเราในชีวิตจริงได้แหละ แล้วก็เราชอบใช้สีชอล์กน้ำมันเพราะเป็นคนขี้เกียจผสมสี 5555555 ชอบ texture หนา ๆ ข้น ๆ ชอบที่มันเหมาะกับการปาด ๆ เปื้อน ๆ เร็ว ๆ คือมันรองรับความ emotional ของเราได้แบบสะใจดี

5. ช่องทางการติดต่อ (สำหรับจ้างทำงาน) หรือ ฝากร้านของตัวเอง

ก็มีไอจีชื่อ moodytangerine ค่ะ แต่ว่าถ้าเข้าไปดูจะเห็นว่างานค่อนข้างน้อย เพราะมันมีช่วงที่เราจมแล้วนั่งลบรูปไปเยอะมากๆ 555555 รับคอมมิชชั่นบ้างถ้าเป็นงานรูปแบบที่อยากทำ แล้วก็จริง ๆ เคยทำสติ๊กเกอร์ขาย เกี่ยวกับพวกการต่อต้าน beauty standard หรือเล่าเรื่องความเป็นเพศหญิง (ซึ่งไม่ได้ลงรูปในไอจีไว้เหมือนกัน) แต่ก็คิดว่าจะวาดเรื่องพวกนี้ขายไปเรื่อย ๆ นะ อยากแชร์ไปเรื่อย ๆ รอวันที่กรอบโง่ ๆ มันจะหายไป จะตายก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง