จะดีเหรอแมะอี้? ชุมชน LGBTQ มาเลย์เดือด หลังฟรอนต์แมน The 1975 ทำแสบจนเทศกาลดนตรีล่ม

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา แมตตี้ ฮีลีย์ฟรอนต์แมนจอมซ่าของวงอินดี้ป็อป The 1975 สร้างชื่อเสียอีกครั้งต่อหน้าแฟน ๆ และผู้คนทั้งเทศกาลดนตรี Good Vibes ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ด้วยการทำซ่า ดื่มแอลกอฮอลบนเวที ทุบทำลายโดรนเก็บภาพ วิพากษ์กฎหมายต่อต้าน LGBTQ ของรัฐบาลมาเลย์ออกไมค์ ลงท้ายด้วยการจูบเพื่อนร่วมวงเป็นการประท้วง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเขาถ่มน้ำลายใส่แฟนเพลงด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้โชว์ถูกตัดจบก่อนเเวลา ทีมผู้จัดคอนเสิร์ตถูกรัฐบาลเรียกตัวไปพบในวันต่อมา ก่อนที่ทั้งเทศกาลที่เหลืออีก 2 วันต้องถูกยกเลิกไป

แต่ผลตอบรับของการกระทำสุดห้าวครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เสียงเชียร์ กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อชุมชน LGBTQ และผู้คัดค้านกฎหมายต่อต้านเกย์ของมาเลเซียหลายส่วนวิพากษ์การกระทำไม่ยั้งคิดของฮีลีย์กันอย่างเผ็ดร้อน ศิลปินบางส่วนถึงกับจัดปาร์ตี้ลับกันเองในช่วงวันที่เหลือของเทศกาลดนตรี พร้อมทั้งประกาศกร้าวว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเขา

แล้วแมตตี้ทำอะไรผิด

“น่าเสียดายที่นักกิจกรรมท้องถิ่นจะต้องมารับผลร้าย มาตรการและการปราบปรามอันหนักหน่วงที่จะตามมาหลังจากเรื่องนี้” Dhia Rezki ตัวแทนนักกิจกรรมจากกลุ่ม JEKAKA ในกัวลาลัมเปอร์กล่าว

“เรื่องนี้ทำให้นึกถึงปมคนขาวผู้กอบกู้ (White saviour complex) จากฝรั่งพวกนี้มาคอยตอกย้ำซ้่ำแล้วซ้ำเล่าว่าคนตะวันออกมันไม่ก้าวหน้า ไม่อารยะ และมันดีแค่ไหนแล้วที่มีคนขาวมาช่วยยกระดับชีวิตเรา” Dee May Tan ศิลปินท้องถิ่นกล่าวเสริมในประเด็นนี้

นักกิจกรรมและผู้สนับสนุนชุมชน LGBTQ หลายส่วนมีความกังวลว่า ต่อจากนี้รัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านเกย์จะหันมาเล่นงานผู้ที่เคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น จากการกระทำไม่ยังคิดของศิลปินสุดห่ามคนนี้

เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียของแมตตี้ ฮีลีย์ ก่อนหน้านี้ที่ทำไว้มากมาย ทั้งเรื่องที่เขาล้อเลียนผู้หญิงกับคนชายขอบกลางรายการวิทยุ การล้อสำเนียงคนเอเชียกับฮาวายกลางรายการวิทยุ หรือกรณีล่าสุดที่เขาแสดงความเห็นเหยียดคนเอเชียจน Rina Sawayama ศิลปินลูกครึ่งอังกฤษ-ญี่ปุ่น ต้องออกมาเรียกร้องให้เขากล่าวขอโทษต่อสาธารณะ การที่ชาวมาเลเซียจำนวนมากจะมองว่าเขาใช้เรื่องสิทธิ LGBTQ มาหาซีนหาแสงอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก

Dhia Rezki ยังเสริมต่ออีกว่า “ผมเข้าใจและสนับสนุนให้เขาแสดงออกต่อกฎหมายล้าหลังของมาเลเซีย รวมถึงที่อื่น ๆ บนโลกด้วย แต่เขาต้องหาแพลตฟอร์มที่มันเอื้ออำนวยกว่านี้” เพราะผลพวงจากการโชว์ประท้วงบนเวที ส่งผลกระทบต่อผู้จัดงาน ศิลปิน และผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

นอกจากการกระทำที่ไม่คิดหน้าคิดหลังของฮีลีย์แล้ว สิ่งที่น่ากังขาไม่แพ้กันคือกฎหมายศาสนาของมาเลเซียที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศของประชาชน ปัจจุบันมาเลเซียถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่แย่ที่สุดต่อคนข้ามเพศ อันดับ 2 รองจากกายยาน่า และสูงกว่าซาอุดิอาระเบีย จากการสำรวจของ Pelagi Campaign การเป็น “คนรักร่วมเพศ” (ตามคำนิยามในกฏหมาย) ในมาเลเซียยังถือเป็นอาชญากรรมที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner

แชร์บทความนี้

Tag

Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง