สรุปจากวงเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติการระบุเพศและการแก้ไขคำนำหน้านาม” เมื่อวันศุกร์ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ โซลบาร์อารีย์

เริ่มต้นด้วย คุณ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ประธานคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติการระบุเพศ และการแก้ไขคำนำหน้านาม พรรคก้าวไกล ได้เปิดร่างพ.ร.บ.การระบุเพศ และการแก้ไขคำนำหน้านาม ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีทั้งหมด 10 มาตรา ด้วยกัน

โดยมีหลักการสำคัญคือ Self-determination และสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสิทธิในการดำรงชีวิตตามเจตจำนงทางเพศของบุคคลเป็นสิทธิมนุษยชน ที่รัฐต้องเคารพ คุ้มครอง และรับรองคำนำหน้านามตามเจตจำนงและอัตลักษณ์เพศสำหรับบุคคลที่ต้องการดำเนินชีวิตในเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด รวมถึงบุคคลที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์ เพื่อให้ข้อมูลทางการทะเบียนราษฎรสอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตในเพศสภาพของบุคคลนั้น เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการยืนยันตนในการทะเบียนต่าง ๆ และเป็นการปรับปรุงข้อมูลทะเบียนราษฎรให้ตรงต่อความเป็นจริงอยู่เสมอ

พร้อมออกความเห็นว่า “ที่ผ่านมาสังคมมีมายาคติเกี่ยวกับค่านิยมทางเพศ เนื่องจากเพศไม่ได้มีเพียงชายและหญิง หลักการของร่าง พ.ร.บ.การระบุเพศ และการแก้ไขคำนำหน้านาม ฉบับพรรคก้าวไกล คือการที่รัฐเคารพ คุ้มครอง และรับรองการแสดงเจตจำนงทางเพศของประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้ระบบทะเบียนราษฎร์ได้รับการปรับปรุงให้ตรงกับความเป็นจริงและเป็นปัจจุบัน ทำให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงทางเพศตามการเลือกของตัวเอง”

สมทบด้วยคุณแดนนี่กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายผู้ต่อสู้ให้วิชาสุขศึกษาสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้ว่า

“ยังต้องได้รับการผลักดันต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มคนข้ามเพศ ไม่ได้รับสถานะบุคคลที่ตรงตามเพศของตน ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเปลี่ยนสถานะบุคคลของตนได้ตามเจตจำนง (self-determination) เป็นสิ่งที่สมควรทำได้”

ทางด้านคุณกานต์ ภัสริน รามวงศ์ สส.พรรคก้าวไกลได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “การเลือกเพศตามเจตจำนง ไม่ควรเป็นเรื่องที่พิสดาร ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีระบบชายเป็นใหญ่ พื้นที่การตัดสินใจต่างๆ เช่น รัฐสภา ผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด และขณะเดียวกัน ไม่ได้นำเอาความหลากหลายทางเพศเข้าไปคิดรวมด้วย”

“ในฐานะ สส. เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น คนในสภาฯ ส่วนใหญ่กังวล และกลัวการออกกฎหมายที่ก้าวหน้า เพราะมีมายาคติที่กลัวว่าหากมีการเปลี่ยนการระบุคำหน้านาม แล้วจะมีใครหลอกใคร ทั้งที่การหลอกลวงนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ จะเพศใดก็หลอกลวงกันได้ หรือกรณีการจัดสรรงบประมาณ Gender Responsive Budgeting ก็ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย ไม่ใช่แค่งบสำหรับชายและหญิง”

ด้านคุณคิว คณาสิต พ่วงอำไพ กล่าวว่า “ตนเป็นนอนไบนารี่ (Non-binary) เห็นปัญหาของการที่ไม่ได้เป็นทั้งชายและหญิง ความรู้สึกนี้เกิดตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนนั้นไม่มีแม้แต่คำนิยามของนอนไบรี่ด้วยซ้ำ เรื่องนี้นำมาซึ่งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว”

ที่มา: Facebook ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ – Tunyawaj Kamolwongwat

ในก่อนหน้านี้ ร่างพระราชบัญญัติการระบุเพศ และการแก้ไขคำนำหน้านาม ถูกสภาผู้แทนราษฎรไม่รับพิจารณา โดยมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 152 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ประกอบกับเหตุผลที่ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนมีความกังวลว่าการเปลี่ยนคำนำหน้านามอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ดังนั้นจึงมีการเสนอให้ถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน เพื่อรอรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

แต่ร่างกฎหมายนี้มีหลักการสำคัญคือ “Self-determination” หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ทาง Genderation เราเห็นด้วยกับทางผู้เสนอร่างกฎหมายที่ยังคงยืนยันว่าจะไม่ถอนร่างกฎหมายนี้ออก เนื่องจากมีความเห็นร่วมกันว่าสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศนี้ควรได้รับสิทธิการเข้าถึงการแก้ไขคำนำหน้านามค่ะ

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง