“Sister to Sister” หนังสือที่จะพาเรามาตีสนิทกับ “จิ๋ม” ของตัวเอง

“น้องสาว” “จุดซ่อนเร้น” “Hee” “กี” “จิ๋ม” “มิจิ” “อิโม๊ะ” ไม่ว่าคุณจะนิยามชื่อเรียกน้องสาวของคุณด้วยชื่อเรียกไหน ทาง Genderation เราอดใจไม่ไหวที่จะมาป้ายยาหนังสืออีกหนึ่งเล่ม ปกน่ารักน่าชังดูเป็นมิตรกับจิ๋มจากงาน Books & Beers 2023 แผงสำนักพิมพ์ P.S. Publishing ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึงหนังสือที่ว่าด้วยจิ๋ม

ถ้าเปรียบเทียบกับหนังสือสอนเพศศึกษาในสังคมไทยเท่าที่เคยเรียนมาแล้ว เล่มนี้ถือว่าเขียนสนุก เข้าใจง่ายกว่ามาก เป็นสาระความรู้เรื่องชีววิทยา ฟีลพี่สาวติวน้องสาวเรื่องจิ๋มอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยภาษาที่เข้าถึงง่าย เป็นเนื้อหาที่เราอ่านแล้วไม่รู้สึกเขินอาย แถมพาเราไปทำความรู้จักกันตั้งแต่ภายนอก ภายใน ยันคริสตอริส รูปทรงสรีระของจิ๋ม วิธีดูแลจิ๋มที่ถูกต้องอย่างมีสุขอนามัย หรือแม้กระทั่งความเข้าใจในโรคติดต่อ สร้างความเข้าใจด้วยหลักการที่เชื่อว่าเมื่ออ่านแล้วจะช่วยคลายความกังวลใจในจิ๋ม มากพอสมควร

หลายเรื่องที่วิชาเพศศึกษาในหลักสูตรอาจไม่ได้บอกครบอย่างตรงไปตรงมา แต่เล่มนี้ก็คือ หมดจด ตอบคำถามเกี่ยวกับเพศสภาวะในทางที่ถูกต้อง และครอบคลุม คู่ควรกับตู้หนังสือทุกบ้านที่มีน้องสาว หลานสาว ลูกสาว มากๆ หรือเพศชายที่อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจจิ๋ม ก็อ่านเล่มนี้ได้สบายอย่างไร้ความกังวลว่าจะถูกมองว่าลามกทะลึ่ง เพราะจิ๋ม เป็นเรื่องทุกคนเข้าใจได้ อ่านแล้วไม่ได้ความเป็นชายของคุณลดลงแต่ประการใด

“จิ๋มเราที่ไม่ได้หน้าตาแบบนั้น ผิดปกติไหม”

“จะถูกคนอื่นหาว่ามีเซ็กซ์มาโชกโชนแล้วรึเปล่า”

“ใช้จุ๊ดจู๋ถูไถแค่ภายนอก จะท้องไหมคะ”

“แอบเอากางเกงในคนอื่นมาใส่ จะท้องไหม”

“สาวซิงต้องมีเลือดออกหลังมีเซ็กซ์ครั้งแรก จริงไหม”

เราขอหยิบจากส่วนหนึ่งจากหน้าคำนำจากผู้เขียนอ่านแล้วทัชใจมาก ปัจจุบันเราคงจะเห็นว่าสังคมไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงสามารถดูแลน้องสาวได้ดีนัก เมื่อมีคำถามหรือข้อสงสัย ไม่รู้จะไปถามใคร ไม่กล้าถามผู้ปกครอง หรือในห้องเรียนสุขศึกษาที่ถึงแม้กำลังเร่งพัฒนาอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก ผู้หญิงเลยยังขาดความรู้และความเข้าใจในจิ๋มของตัวเองหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น การทำความสะอาดจิ๋ม การนับรอบเมนส์ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงบางคนก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า “รูปัสสาวะกับรูช่องคลอด มันคือรูเดียวกันไหม”

หากเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ยังรู้ผิด ๆ ถูก ๆ คงไม่ต้องคาดหวังกับเรื่องการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แม้ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระหลายๆ แห่งช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลความรู้ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถวิ่งแซงความรู้และความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อกันได้เลย

ในอีกแง่มุมความรู้ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ก็มักมุ่งเน้นน้องสาวที่คู่กับน้องชาย หรือจิ๋มที่คู่กับจู๋ แต่โลกความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น โลกของเรามีความหลากหลาย ยังมีจิ๋มที่ไม่ได้คู่กับจู๋ หรือจิ๋มที่ไม่ได้คู่ กับใครเลย จิ๋มเหล่านี้ก็ควรได้รับข้อมูลที่ครอบคลุมในการดูแลตัวเองเหมือนกัน

จะดีกว่าไหม ถ้าผู้หญิงสามารถพูดคุยเรื่องเพศได้มากขึ้น พูดคุยกันอย่างผ่อนคลายคล้ายกับเรื่องออกกำลังกาย เมื่อเราแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เราจะได้เรียนรู้และเข้าใจเพิ่มขึ้น มีวิธีดูแลร่างกาย และน้องสาวของเราให้ดีขึ้น

เราจะรู้สึกเป็นเพศอะไร และเราจะชอบแบบไหนเป็นเรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับเพศที่หมอบอกตอนเกิด และไม่เกี่ยวกับลักษณะภายนอกที่คนอื่นเห็น และเค้าจะเป็นแบบไหนก็เรื่องของเค้า อย่าไปยุ่งเลย แค่ยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ด้านหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะเรื่องเพศเป็นเพียงแค่มิติหนึ่งของชีวิตมนุษย์ คนเราแตกต่างกันในหลายมิติ ขอแค่เพียงเปิดใจยอมรับในความหลากหลายของกันและกันก็พอ

“Sister to Sister” คุยเรื่องจุ๋มจิ๋มของน้องสาว หนังสือที่เหมาะสำหรับ ผู้อ่านที่มีจิ๋มทุกคน และผู้อ่านที่ไม่มีจิ๋มแต่อยากเข้าใจจิ๋ม โดย คุณหมอน้ำอ้อย ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ จากเพจน้องสาว สำนักพิมพ์ P.S. Publishing

สนใจสามารถสอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/P.S.Publish

และ งาน Book Festival 21 – 30 กรกฎาคม 2566

เวลา: 11.00 – 22.00 น.

ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์ (MRT สถานีเพชรบุรี ประตู 2)

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง