The Bear: พ่อครัวหัวจะปวด

(2022-) Christopher Storer

เรื่องราวของ The Bear เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันแรกที่ร้าน Beef ของซิดนีย์  สาเหตุเดียวที่เชฟวัยรุ่นไฟแรงอย่างเธอเลือกสมัครเข้าทำงานในร้านอาหารสไตล์ครอบครัวหน้าตามอมแมมซึ่งดูจะตรงข้ามกับทุกนิยามของร้านอร่อยดีกรีรางวัลแห่งนี้ก็คือการที่เธอจะได้ร่วมงานกับคาร์เมน แบร์ซาตโต ยอดเชฟผู้ปลีกตัวจากภัตตาคารติดดาวที่นิวยอร์กมาหมกตัวอยู่ในร้านรูหนูแห่งนี้อย่างเป็นปริศนา หนึ่งวันของซิดนีย์ผ่านไปท่ามกลางกิจวัตรอันแสนวุ่นวาย เสียงแหกปากด่าทอ ความเลอะเทอะไร้ระเบียบที่ไร้วี่แววจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ ทั้งตัวเธอเองและผู้ชมต่างก็สงสัยไม่แพ้กันว่า ไยคนที่ควรจะเป็นดาวเด่นแห่งวงการอาหารที่ใคร ๆ ก็ยอมทุ่มเงินและเวลาเพื่อลิ้มรสอาหารอย่างเขา จึงเลือกมาหมกตัวอยู่ในที่ซอมซ่อพรรค์นี้

ปริศนานี้ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาไม่นาน นี่คือร้านที่เขารับช่วงต่อมาจากพี่ชายที่เพิ่งปลิดชีพตัวเองไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คำตอบนี้นำไปสู่ปริศนาต่อไปว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับกิจการของครอบครัวนี้

The Bear ไม่ใช่เรื่องราวของคนขี้แพ้จนตรอก กลับกัน มันคือเรื่องราวของยอดคนฝีมือดีที่ลากตัวเองมาอยู่ในครัวซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากนรก ก่อนจะลากสังขารโทรมเจียนตายกลับไปนอนในยามจบวัน เพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างที่กรรมการมิชลินให้เขาไม่ได้ ความดุเดือดในแต่ละวันที่เขาเผชิญคือสารพันปัญหาที่พร้อมจะทำให้กิจการของครอบครัวจบสิ้นลงได้หากก้าวพลาดแม้แต่นิดเดียว 

“ไอ้น้อง ทำไมนายต้องเรียกทุกคนในครัวว่าเชฟด้วยวะ” ริชชี่ ลูกพี่ลูกน้องและผู้จัดการร้านจอมโวยวายตั้งคำถามอย่างประชดประชัน “ก็มันเป็นเรื่องของความเคารพไง” คาร์เมนตอบแล้วก้มหน้าก้มตาทำอาหารของเขาต่อไป

สิ่งที่ Christopher Storer ผู้กำกับและมือเขียนบทของซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือการมอบหัวจิตหัวใจให้กับตัวละครทุกตัวในเรื่องด้วยความเคารพ ตั้งแต่หัวหน้าเชฟ นายทุน ผู้จัดการ คนทำขนม ไปจนถึงช่างไฟช่างเทคนิคประจำร้าน ทั้งในยามสงบอบอุ่นหัวใจและยามดุเดือดเลือดพล่านตะโกนด่ากันจนเส้นเลือดปูด เช่นตอน Review (ซีซั่นแรก ตอนที่ 7) และ Fishes (ซีซั่น 2 ตอน 6) ซึ่งถูกกล่าวขวัญว่าถ่ายทอดอารมณ์และบอกเล่าสารสำคัญของเรื่องผ่านสถานการณ์บ้าบอคอแตกในครัวร้านครัวเรือนได้ถึงอกถึงใจ โดยมีความทั้งรักทั้งเกลียดกันในครอบครัวเป็นเครื่องชูรสหวานขมชั้นดี

ส่วนที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษคือการที่ซีซั่นที่สองของ The Bear อุทิศเวลาให้กับการเล่าเรื่องการต่อสู้ของตัวละครคนครัวแต่ละคนระหว่างการรีโนเวตเปลี่ยนร้านอาหารบ้าน ๆ เป็นร้านไฟน์ไดนิ่งท่ามกลางการเสื่อมถอยของธุรกิจร้านอาหารในชิคาโก ความเชื่อมั่นที่คาร์เมนมีให้กับทีมงานของเขาเป็นภาพสะท้อนถึงสิ่งที่เขาไม่ได้รับจากครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเขาเอง (ดังที่เห็นงานเลี้ยงคริสต์มาสสุดโหดในตอน Fishes) มันสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงขึ้นมา ทำให้ร้านเดอะแบร์กลายเป็นเหมือนครอบครัวที่เขาไม่เคยมี แม้จะยังไม่หยุดแหกปากใส่กันก็ตาม 

นั่นรวมไปถึงการเข้าไปติดในตู้เย็นของคาร์เมนในตอนสุดท้ายที่เป็นทั้งความฉิบหายในสถานการณ์จริงและภาพสะท้อนความรู้สึกที่สมาชิกครอบครัวแบร์ชาตโต้รู้สึกเสมอมา มันคือการติดอยู่ในจิตใจที่หนาวเหน็บเจ็บปวดเพราะคิดว่าตัวเองไม่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ พวกเขาเป็นเพียงของชำรุดที่พอจะมีฝีมือในการทำอาหารอยู่บ้าง และใช้มันเป็นเครื่องมือในการปกปิดความชำรุดในตัวเองเสมอมา “ฉันเป็นใครวะ จะมาคิดว่าตัวเองมีความรักกับเขาได้ ถ้าไม่มีเรื่องไร้สาระพรรค์นี้ฉันก็น่าจะทำทุกอย่างได้ดีอยู่แล้ว”

“แล้วมึงจะปล่อยให้ตัวเองได้รับสิ่งดี ๆ สักครั้งไม่ได้เหรอ” ริชชี่ ไอ้พี่คนเดิมตะโกนใส่ ณ จุดหนึ่งของการทุ่มเถียงผ่านประตูตู้แช่ ผู้ชายหัวทึบขี้โวยวายคนนี้เปลี่ยนไปแล้วจากการที่ไอ้น้องได้มอบความรักความไว้วางใจให้เขา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เครื่องปรุงลับของ The Bear คือน้ำตาจากบทเรียนที่ว่าคนเราสมควรจะรักตัวเองดูเสียบ้าง 

ไม่ว่ามันจะยากเย็นแค่ไหนก็ตาม

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง