รีวิวบอร์ดเกม: Turing Machine บอร์ดเกมถอดรหัสที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนักคณิตศาสตร์ LGBTQ

ทัวริ่งแมชชีน เป็นบอร์ดเกมแนวถอดรหัสที่ฝึกการอนุมาน (deduction) ด้วยชุดตัวเลขเพียงแค่ 3 หลัก แต่เล่นได้ไม่รู้จบเพราะมีให้เราเล่นถึง 7 ล้านกว่ารูปแบบปริศนา โดยตัวเกมได้แรงบันดาลใจมาจาก Turing Machine หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่คิดค้นขึ้นมาโดยคณิตศาสตร์ LGBTQ อลัน ทัวริ่ง

ทัวริ่งแมชชีนเป็นเกมขนาดเล็กที่สามารถเล่นได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในชุดเกมสามารถเล่นได้สูงสุด 4 คน แต่จริงๆแล้วเราจะเล่นกี่คนก็ได้เพียงแค่มีปากกาและกระดาษก็สามารถร่วมสนุกกับการถอดรหัสของเกมได้ โดยเกมจะมีการ์ดคำใบ้เงื่อนไขของรหัสลับมาให้ และชุดกระดาษเจาะเมื่อเราเอาเลขที่ต้องการมาเรียงกันเพื่อทาบกับชุดคำใบ้เงื่อนไข ก็จะเห็นเป็นเครื่องหมายถูกหรือผิด เพื่อมาเป็นข้อมูลเพื่อหาชุดตัวเลขทั้งหมดที่ถูกต้อง โดยปริศนาตัวเลขและการจัดเรียงการ์ดคำใบ้เงื่อนไข นอกจากจะมีในคู่มือแล้ว ยังสามารถดูเพิ่มเติมได้ในเว็ปไซต์ของเกมซึ่งมีมากกว่า 7 ล้านชุด

เกมสามารถปรับระดับความยากง่ายและสามารถเล่นช่วยกันหรือเล่นแข่งกันได้อีกด้วย โดยใครที่ทายเลขถูกก่อนโดยที่ใช้ข้อมูลการถามน้อยครั้งที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ตัวชุดข้อมูลเงื่อนไขรหัสนั้น เป็นการจำลองมาจากการสร้างคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ โดยในเกมจะเรียกว่าเป็น แมชชีน หรือคอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย แต่สามารถตอบคำถามและคิดได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์

ความสนุกของเกมคือการได้ช่วยกันคิด หรือการแข่งกันคิดเพื่อถอดรหัส ตัวเลขสามหลัก ที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลย เราสามารถเล่นคนเดียว เล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้ และในเว็ปไซต์ของเกมยังมีปริศนาประจำวันให้เราแก้อีกด้วย

ทัวริ่งแมชชีน มาจากไหน?

ทัวริ่งแมชชีนเป็นเครื่องจำลองแบบทางคณิตศาสตร์หรืออัลกอริทึ่มที่เป็นต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับผู้คิดค้นมันขึ้นมาในปี 1936 คือนักคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่า อลัน ทัวริ่ง ซึ่งตอนนั้นเขาเรียกมันว่า ‘แมชชีน’ อลัน ทัวริ่ง เป็นนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คนแรกๆของโลก ที่คิดค้นระบบอัลกอริทึ่มที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันในเครื่องคอมพิวเตอร์ อลัน ทัวริ่ง ยังเป็นนักถอดรหัสและได้ช่วยอังกฤษคิดค้นเครื่องถอดรหัส Enigma Code ซึ่งเป็นรหัสลับที่นาซีเยอรมันใช้ในการส่งข้อความถึงกัน และได้ประดิษฐ์เครื่องถอดรหัสที่ซับซ้อนเพื่อช่วยเหลือในการสงครามอีกหลายชิ้น

เครื่องทัวริ่งแมชชีน

ในปี 1952 อลัน ทัวริ่ง ถูกจับในข้อหาการเป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน ซึ่งในอังกฤษขณะนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เขาได้รับการลงโทษเนื่องจาก ‘มีความสัมพันธ์ที่น่าขยะแขยง’ (ในภายหลังความผิดของเขาได้ถูกยกเลิกในปี 2013) แต่ก็ไม่ต้องจำคุกเพราะว่าเขายินยอมที่ให้ใช้ยาทางเคมีเพื่อรักษาอาการนี้ อลัน ทัวริ่ง เสียชีวิตในปี 1954 ด้วยพิษของยาไซยาไนด์ซึ่งคาดว่าเขาน่าจะใช้มันเพื่อจบชีวิตตัวเอง

เครื่องถอดรหัสในสมัยสงครามโลก

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเขาได้รับรู้ทางสาธารณะเมื่อเขาเสียชีวิตลงแล้ว และเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของเขาเพิ่งถูกเปิดเผยในช่วงปี 1990 นี้เอง และเรื่องราวของเขาก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game (2014) นำแสดงโดย Benedict Cumberbatch

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง