Watch and Learn: หลานม่า “ห้าบาทอั๊วะก็ไม่ให้!”

“ครอบครัวต้องมาก่อน” เป็นคติพจน์ที่มีอิทธิพลอย่างแข็งแรงและยืนยงอย่างปฏิเสธไม่ได้ต่อสังคมเอเชีย และยิ่งเข้มข้นสำหรับลูกหลานคนพลัดถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดคงหนีไม่พ้นบรรดาผู้คนเชื้อสายจีนซึ่งถือเอาคติแบบลัทธิขงจื๊อติดตัวไปด้วยทุกมุมโลก จนอาจพูดได้ว่าภาพครอบครัวขนาดใหญ่ล้อมวงกินข้าวในโอกาสสำคัญถือเป็นเครื่องหมายการค้าของพวกเขาไปเสียแล้ว

แต่นอกจากวงอาหารขนาดใหญ่ในวันตรุษจีน ครอบครัวยังเป็นอะไรได้อีกบ้าง

สำหรับบางคนครอบครัวคือจิตวิญญาณของบ้าน คือคนที่ต้องกลับไปหา คือทีมที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ คือที่อาศัยของความทรงจำและแรงสนับสนุนดี ๆ มากมาย ขณะที่มีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ครอบครัวของพวกเขาเป็นพื้นที่ของการบริหารทรัพยากร มันเป็นเกมผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมซึ่งอิงอยู่กับเพศและลำดับการเกิดก่อนหลังของทุกคน เป็นทีมยอดแย่ที่ผู้เล่นบังเอิญถูกจับมากองรวมกันเพียงเพราะถือกำเนิดจากพ่อแม่คนเดียวกัน แถมจ้องจะเล่นงานกันเองเมื่อสบโอกาส ซ้ำร้าย เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความพยายามของใครสักคนอาจไม่เหลือค่าใด ๆ เลยเพียงเพราะว่าเขาคนนั้นแต่งงานใช้สกุลอื่นไปแล้ว

‘หลานม่า’ เล่าเรื่องของเอ็ม (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) วัยรุ่นชายเชื้อสายจีนผู้ไม่ได้ซึ้งกับความงดงามของครอบครัวนัก สำหรับเขา อาม่า (อุษา เสมคำ) ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายคือโอกาสรวยที่ไม่ต้อลงแรงมากเท่าการเป็นสตรีมเมอร์ ส่วนคนที่เหลือ ทั้งม้าซิว (สฤญรัตน์ โทมัส) กู๋เคี้ยง (สัญญา คุณากร) และกู๋โส่ย (พงศธร จงวิลาศ) คือทีมยอดแย่ที่ตึงใส่กันได้ตลอดเวลาทุกคราวที่รวมตัว นั่นคือสิ่งที่เอ็มเข้าใจก่อนที่เขาจะเลือกทำหน้าที่ ‘หลานเต็มเวลา’ คอยดูแลปรนนิบัติอาม่าสารพัดด้วยใจหวังว่าจะได้สมบัติอย่างที่มุ่ย (ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ได้จากอากงที่เพิ่งเสียไปบ้าง

ทว่าระหว่างการเดินทางไปสู่วาระสุดท้ายของอาม่า บาดแผลใหญ่ที่ตกทอดกันมาอย่างเป็นระบบก็เผยตัวให้ได้ประจักษ์ และมันได้เปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเอ็มไปตลอดกาล

คำถามที่ ‘หลานม่า’ ตั้งเอาไว้ได้แหลมคมคือ ครอบครัวเป็นพื้นที่แห่งความรักไร้เงื่อนไขจริงหรือ และ ความรักที่เริ่มต้นด้วยเงื่อนไขบางอย่างจะยังนับเป็นความรักได้หรือไม่ หากมันยังคงดำเนินต่อไป แม้จะไม่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขเดิมแล้วก็ตาม

ก่อนหน้าที่ ‘หลานม่า’ จะเข้าฉายไม่นานนัก มีหนังอีกเรื่องที่ตั้งคำถามคล้าย ๆ กัน นั่นคือ EGOIST (2022, Matsunaga Daichi) หนังเล่าถึงคู่ชายรักชายที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งใช้เงิน “จ้าง” อีกฝ่ายให้อยู่ในความสัมพันธ์ ก่อนที่เรื่องราวจะพัฒนาต่อไปเป็นความผูกพันธ์ลึกซึ้ง แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะจากไปแล้วตลอดกาล จุดที่ทำให้ EGOIST แตกต่างจาก ‘หลานม่า’ ก็คือ ที่ปลายทางของหนังเรื่องแรก ความรักนั้นได้สร้างครอบครัวใหม่ที่ไม่ได้มีพันธะทางสายเลือดขึ้นมา ขณะที่เรื่องหลัง ความรักที่เอ็มมีต่อม่าได้ประกอบครอบครัวเดิมกลับขึ้นมาและพ้นไปจากการต้องอยู่ร่วมกันเพราะมีความเกี่ยวพันทางชีวภาพเพียงอย่างเดียว

“ลูกชายได้บ้าน ลูกสาวได้มะเร็ง”

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ถูกชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนใน ‘หลานม่า’ คือความไม่เป็นธรรมที่ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นระบบในครอบครัวที่สืบทอดทุกอย่างผ่านลูกชายคนโต ในกรณีของกู๋เคี้ยง มันคือการทุ่มทรัพยากรไปที่คนคนเดียว ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเขาก็วุ่นอยู่กับการสร้างครอบครัวของตัวเองจนแทบไม่มีเวลามาใช้กับแม่ ขณะที่ลูกคนอื่น ๆ ได้รับความรักในแบบที่ต่างออกไป (แน่นอนว่าแแทบไม่มีใครรู้ตัวเพราะม่าเองก็ไม่ได้พูด) แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับกรณีของเหล่ากู๋ พี่ชายคนโตของม่า ที่ไม่ยอมแม้แต่จะแบ่งสมบัติที่ได้มาคนเดียวให้กับน้องสาวแท้ ๆ เพียงเพราะว่าใช้แซ่ไม่เหมือนกัน วาทะ “ห้าบาทอั๊วะก็ไม่ให้” ของเหล่ากู๋นั้นพลิกภาพของเอ็มกับม่าขึ้นมาซ้อนกันได้อย่างน่าสนใจ ทั้งคู่นั้นต่างตกอยู่ในตำแหน่งที่เกือบจะเหมือนกันโดยสมบูรณ์ ผิดกันตรงที่เอ็มนั้นทำไปเพื่อหวังผลทางมรดก แต่ม่าจำต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ตามสำนึก 

ตลกร้ายประการหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ คนที่เอาชนะระบบได้กลับเป็นคนที่ดูเหมือนจะไร้หัวใจอย่างมุ่ย ญาติฝั่งพ่อของเอ็มที่ผันตัวไปเป็น caregiver อาชีพในคราบหลานกตัญญู “เราไม่ได้มาทำให้เขาเสียใจหรือเปล่าวะเฮีย” สำหรับมุ่ยแล้ว การไม่เอาใจไปเล่นด้วยคือกุญแจสู่ชัยชนะที่แท้จริง

เป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ว่าในบ้านที่มีลูกหลายจะมอบความรักอย่างเท่าเทียมกันตามที่พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ พร่ำบอกได้ ไม่ว่าจะมีอิทธิพลจากความเชื่อคติจีนมาก น้อย หรือแม้จะไม่มีเลยก็ตาม เพราะธรรมชาติของการมีตัวเปรียบเทียบทำให้การตัดสินใจของคนเอนเอียงได้เสมอ และมันก็ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าตัวของพ่อแม่เองก็เป็นมนุษย์ ความลำเอียงในสายตาลูกหลานอาจอธิบายได้เมื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีมองอีกแบบ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะมีแบบใดที่ผิดเสมอไป) การตัดสินใจจะไม่ยกบ้านให้คนที่เราคิดว่าอาม่ารักที่สุดอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีก็ได้ เมื่อพิจารณาว่าเงื่อนไขชีวิตของลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน และการสะสางมันทิ้งไปเสียจะส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการตัดสินใจอย่าง “ยุติธรรม” ในแบบของเอ็ม ซึ่งมีความเข้าใจไปเองตั้งแต่ต้นว่าการเป็นที่รักนั้นแข่งกันได้อย่าง ‘เป็นธรรม’

มีหลายคนที่สมควรได้รับเครดิตจากการฉายภาพของครอบครัวที่ซับซ้อนอย่างสมจริงในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กำกับ (พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์) ผู้กำกับภาพ (บุณยนุช ไกรทอง – การฉายภาพตลาดพลูกับบ้านของม่าในเรื่องนั้นทั้งสมจริงเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา) ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ (ใจเทพ ร่าเริงใจ) ทีมงานอีกหลายภาคส่วนและทีมนักแสดงที่ได้มอบเลือดเนื้อให้กับ ‘หลานม่า’ ผู้ทำให้การเผยบาดแผลของครอบครัวในเรื่องนี้มีน้ำหนักของความสมจริง บอกเล่าประเด็นทางสังคมที่ทุกคนจับต้องได้อย่างแข็งแรง เป็นสากลโดยไม่ต้องอิงอยู่บนความเป็นลูกหลานจีนเพียงอย่างเดียว ส่วนคนที่สมควรจะได้รับเสียงปรบมือเป็นพิเศษคือ พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ อุษา เสมคำ สองนักแสดงที่รับบทสำคัญของเรื่องที่ให้น้ำหนักกับความสนิทสนมและระยะห่างในใจระหว่างสองตัวละครหลาน-ม่าได้อย่างเหมาะเจาะพอดีจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลานชิ้นแรก ๆ ของพวกเขาในฐานะนักแสดงภาพยนตร์ ทั้งการแสดงสีหน้า ภาษากาย ตลอดไปจนถึงอากัปอาการที่สะท้อนเบื้องดวงตา 

ไม่ว่า ‘หลานม่า’ จะเรียกน้ำตาจากคุณได้สักกี่มากน้อย สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมันได้สร้างบทสนทนาว่าด้วยเรื่องความไม่เรียบของความรักในครอบครัวได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้การเป็นทีมยอดแย่ที่พร้อมจะหยุมหัวกันตลอดเวลายังคงมีความผูกพัน ภาพของการพาปู่ย่าตายายไปดูหนังร่วมกันและแบ่งปันความเจ็บปวดที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นก็ชวนให้มีความหวังว่าจะครอบครัวยุคใหม่จะร่วมกันบรรเทาเบาการเลือกปฏิบัติต่อกันให้น้อยลง

หรืออย่างน้อยเราก็จะได้ประจักษ์ร่วมกันแล้วว่า อาม่าที่เราอยากไปรำลึกถึงในวันเชงเม้ง เขาควรจะเป็นคนไหน

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง