Watch and Learn: Spencer “กรอบ กรง และไก่ทอดสูตรผู้พัน”

Spencer
2021, Pablo Larrain

คุณเคยชั่งน้ำหนักความสุขกันหรือเปล่า

ฉันไม่แน่ใจนักว่าความสุขมันชั่งตวงวัดกันได้จริงหรือ แต่ธรรมเนียมการชั่งน้ำหนักความเกษมสำราญนั้นมีจริงที่ตำหนักแซนดริงแฮม ที่พำนักในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ในชนบทอันห่างไกลของนอร์ฟอล์ก ธรรมเนียมนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าสามาชิกราชวงศ์ทุกคนจะอยู่ดีมีสุขในทุกมื้อกับอาหารที่ข้าราชบริพารจัดหามาให้ตลอดสามวันที่เข้าพำนักในตำหนัก มาตรวัดแห่งความสุขนี้คือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากการชั่งครั้งแรกในทันทีที่มาเยือน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเชื้อพระวงศ์บางพระองค์เล่นมุกตลกว่าอันที่จริงแล้ว ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวพวกเขาหาใช่มวลจากร่างกายแท้ ๆ แต่เป็นน้ำหนักรวมของเครื่องประดับที่สวมใส่มาต่างหาก

คงมีน้อยคนนักที่จะเชื่อได้ว่าตราชั่งที่โถงประตูหน้านั้นจะชั่งตวงความสุขได้จริง ไดอาน่า ดัชเชสแห่งเวลส์ก็คิดเช่นเดียวกับคนส่วนมาก เธอเองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีหลักฐานหนักพอให้คิดเช่นนั้น

Spencer เล่าเรื่องราวสามวันเบื้องหลังม่านและกรอบธรรมเนียมในช่วงคริสต์มาสสุดท้ายของเจ้าหญิงไดอาน่า ตัวละครสำคัญในโศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมเลือนของราชวงศ์อังกฤษ ทั้งยังเป็นผลงานที่ยืนยันว่า Pablo Larrain คือผู้กำกับที่เป็นเลิศในด้านการถ่ายทอด “เรื่องแต่งอิงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริง” ด้วยลีลาที่ยากจะหาคนมาเปรียบ เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำใน Jackie (2016) และผลงานล่าสุด El Conde (2023) ทางเลือกของเขาใน Spencer ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เมื่อพิจารณาจากการที่หนังไม่ได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ดราม่าสะเทือนขวัญที่เป็นปลายทางชีวิตของสมาชิกราชวงศ์ แต่กลับเลือกเล่าความปะทุคุกรุ่นในใจของไดอาน่า ใต้แรงกดของธรรมเนียมราชวงศ์ และสายตาที่จับจ้องอยู่ตลอดเวลาของสื่อ

สิ่งที่สะท้อนความไร้สุขของไดอาน่าคือความไม่อยากอาหารซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดเมื่อเธอต้องกินมันในฐานะเจ้าหญิง ยศฐาบรรดาศักดิ์ได้เปลี่ยนกิจกรรมที่ควรเป็นความสุขอย่างการรับประทานอาหารชั้นเลิศพร้อมหน้ากับครอบครัวในช่วงเทศกาลให้กลายเป็นภาระหน้าที่ เรื่องนี้สอดคล้องกับคำอธิบายในหนังสือ กษัตริย์คือ (อะ) ไร: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชนของเดวิด กรูเบอร์ และ นิกาดูบรอฟสกี ว่ากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์นั้นต่างจากคนทั่วไปตรงที่พวกเขามีร่างกายสองแบบ คือร่างกายที่เป็นปัจเจก และร่างกายสำหรับพิธีกรรม (หรือร่างกายทางการเมือง) ซึ่งมีเอาไว้ใช้ประกอบพิธีการเพื่อรับใช้สังคมที่พวกเขาปกครอง พิธีกรรมคือการสนองความคาดหวังที่ผู้คนเหล่านั้นยินยอมมอบทรัพยากรให้เป็นพิเศษ (สำหรับปัจจุบัน ทรัพยากรที่ว่าคือภาษี) แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ไดอาน่าคนเดียวที่ต้องทำเช่นนั้น การกินดื่มเป็นภาระของสมาชิกราชวงศ์คนอื่น ๆ เช่นกันเพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น กลุ่มคนที่น่าจะได้สำราญกับชีวิตที่หรูหราที่สุดไม่ได้เสพสุขด้วยความต้องการของตัวเอง พวกเขาจำต้องทำมันไปเพื่อรับใช้ธรรมเนียม เพราะหากไร้ธรรมเนียมเสียแล้ว พวกเขาก็แทบไม่มีค่าอะไรเลยในสายตาพสกนิกร ในโลกสมัยใหม่นี้มีเพียงธรรมเนียมเท่านั้นที่จะยืนยันคุณค่าของพวกเขาได้ รูปราชินีที่ผู้คนอยากเห็นมากที่สุดไม่ได้อยู่ในกรอบหรูแขวนผนังแต่เป็นธนบัตร “พวกเราต่างเป็นเงินตรา” สมเด็จพระราชินีตรัสเช่นนั้น ทว่าความหมองไหม้ระทมทุกข์นี้ออกฤทธิ์แรงเป็นพิเศษเฉพาะกับไดอาน่า บุตรีของขุนนางตระกูลสเปนเซอร์ผู้แสนจะติดดิน ภรรยาที่มีไว้ถ่ายรูปเท่านั้นของเจ้าชายชาลส์ 

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษตลอดเวลากว่าสองชั่วโมงคือบรรยากาศหลอกหลอนในตำหนักแซนดริงแฮมที่สะท้อนภาวะภายในของไดอาน่า มันทั้งน่ากลัวและเศร้าสร้อยเสียยิ่งกว่าผีแอนน์ โบลีนที่ปรากฏตัวมาเป็นระยะเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อรวมเข้ากับการแสดงของคริสเตน สจวร์ต ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนระเบิดเวลาเคลื่อนที่ ชวนให้คิดได้ว่า กรอบและกรงที่สังคมมอบให้นั้นสามารถสร้างความเจ็บปวดสาหัสให้กับมนุษย์ได้ทุกผู้ทุกนาม เว้นแม้กระทั่งสตรีสูงศักดิ์ในประเทศมีราชินีเป็นประมุข แสงสว่างที่ปลายทางของหนังเรื่องนี้บังเกิดขึ้นได้เมื่อไดอาน่าได้ปลดเปลื้องน้ำหนักของธรรมเนียมลงด้วยการเผชิญหน้าต่อต้านพิธียิงไก่งวงของบรรดาเจ้าชาย และพาลูกทั้งสองแหกกรงขังอันแสนหรูหรานี้ไปเป็นการชั่วคราว

เมื่อชีวิตชีวาจึงหวนสู่เธออีกครั้ง รสชาติของไก่ทอดร้านฟาสต์ฟู้ดจึงสาแก่ใจยิ่งกว่าเมนูใด ๆ ที่พ่อครัวหลวงจะรังสรรขึ้นมาได้ ชัยชนะเล็ก ๆ ครั้งนี้ช่างหอมหวานและน่าจดจำ ไม่ว่าปลายทางจะจบลงเช่นไร

 

รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโพสต์นี้?

Loading spinner
Related Stories

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง